โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ ที่บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ชาวไทยภูเขา โดยยึดแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โครงการรับผิดชอบดูแลจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นสำหรับเป็นต้นทุนในการดำรงชีพให้แก่ราษฎร จำนวน ๒๐ ครอบครัว จาก ๔ ชนเผ่า คือ เผ่าเย้า เผ่าอาข่า เผ่ามูเซอ และเผ่ากระเหรี่ยง ซึ่งทุกชนเผ่าอยู่รวมกันในพื้นที่ ประมาณ ๔๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่
แปลงนาแบบขั้นบันไดที่จัดสรรให้ครอบครัวละประมาณ ๔ ไร่ ทำให้ชาวไทยภูเขามีข้าวพอกิน และมีพื้นที่ครัวเรือนที่เน้นให้ชาวบ้านปลูกพืชผักหรือทำการเกษตรที่ปลอดสารพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ผักสดของบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า เป็นที่ต้องการของตลาด นับเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่ง
ด้านการพัฒนาชุมชน โครงการฯ ได้ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยเน้นให้มีทักษะการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง พร้อมทั้งได้เสริมความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการศึกษาต่อ ด้วยการปลูกฝังให้รักในอาชีพเกษตร รวมไปถึงการรักสิ่งแวดล้อม ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดจนได้เสริมการเรียนรู้อาชีพการทำเครื่องเงิน การตัดผ้า และการปักผ้า สำหรับด้านสุขภาพ จัดให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของแต่ละเผ่าคอยดูแลการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนกรณีที่มีการเจ็บป่วยเกินกว่าที่จะดูแลรักษากันเองได้ ให้นำส่งสถานีอนามัยประจำหมู่บ้าน หรือนำส่งโรงพยาบาล เชียงคำ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ โดยใช้รถยนต์ขับเคลื่อน ๔ ล้อ ที่ได้พระราชทานไว้ประจำบ้านเล็กในป่าใหญ่
ด้วยการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทำให้ในปัจจุบัน ชุมชนบ้านหนองห้ามีความมั่นคง และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนในหมู่บ้านได้ร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน
หากย้อนไปดูความเป็นมาก่อนเริ่มโครงการ จะพบว่าแต่เดิมนั้นพื้นที่บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว มีชาวไทยภูเขาเผ่าเย้าอยู่อาศัยและทำกิน ประมาณ ๓๐ ครัวเรือน ส่วนใหญ่ทำไร่ฝิ่นซึ่งเป็นพืชเสพติด และปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพด และไม้ผลเมืองหนาว เช่น ท้อ บ๊วย และสาลี่ เป็นต้น เนื่องจากพื้นที่บริเวณบ้านหนองห้า มีอากาศค่อนข้างเย็น และมีน้ำตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากบ้านหนองห้าอยู่ห่างไกลจากชุมชน ไม่มีถนน ไม่มีสถานบริการทางการแพทย์ ทำให้ชุมชนค่อย ๆ ย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณใกล้ตัวเมืองมากขึ้น ส่งผลให้ในที่สุดพื้นที่บ้านเย้าหนองห้าไม่มีชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกิน กลายเป็นที่รกร้างและเสื่อมโทรม
จนเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ขณะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่แนวชายแดนประเทศไทย – ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณดอยยอดห้วยน้ำลาว บ้านเย้าหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา พระองค์ทรงพบว่าพื้นที่ป่าได้ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้าง และบางส่วนของพื้นที่มีการปลูกพืชเสพติด รวมทั้งมีปัญหาด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนด้วย ประกอบกับมีราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ถวายฎีการ้องทุกข์ขอพระราชทานความช่วยเหลือเรื่องที่ทำกินเป็นจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้ราษฎรเหล่านั้นเข้ามามีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน โดยให้โครงการส่งเสริมความรู้ในการทำการเกษตรที่ถูกต้อง และให้ราษฎรมีหน้าที่ช่วยฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณบ้านเย้าหนองห้า เพื่ออนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธาร เป็น “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่”
ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา