ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน

- สหกรณ์ “แพรวา” ผ้าทอชาวภูไท -

๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานงานประกวดผ้าไหม ณ ลานคำหอม พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร

              ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวา ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๕ ตำบลบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นสถานที่สำคัญในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นถิ่นชาวภูไท นับเริ่มจากปี ๒๕๒๑ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับโครงการส่งเสริมการทำผ้าไหมแพรวาบ้านโพน ไว้ในความดูแลของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในชื่อ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร” โดยเริ่มจากสมาชิก จำนวน ๗๐ คน ล่วงมาถึงปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า ๘๐๐ คนแล้ว ด้านการบริหารจัดการ ได้ดำเนินงานในรูปแบบสหกรณ์ จนเกิดเป็นพื้นที่ส่งเสริมอาชีพ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรได้อย่างยั่งยืน กล่าวคือ นอกจากการทอผ้าเพื่อแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ สำหรับจำหน่ายแล้ว ยังสาธิตกระบวนการผลิตผ้าไหมแบบโบราณ ซึ่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่การสาวไหม การฟอก การย้อมสีธรรมชาติ จนถึงขั้นตอนในการทอผ้า ที่มีลวดลายวิจิตรงดงาม ตลอดจนได้ศึกษาพัฒนากระบวนการใหม่ ๆ เป็นการต่อยอดงานหัตถศิลป์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในด้านความสวยงาม ความคงทน และคุณสมบัติอื่น ๆ เพื่อให้เป็นผ้าที่มีคุณภาพในระดับสากล

               สำหรับที่มาของชื่อ “แพรวา” นั้น ในความหมายเดิม หมายถึง ผืนผ้าขนาดเล็กที่ใช้พาดบ่า ซึ่งชาวบ้านทอขึ้นอย่างวิจิตรบรรจง งดงามด้วยลวดลายที่แต่ละครอบครัวได้ส่งต่อองค์ความรู้สืบทอดกันมา คำว่า “แพร” สื่อถึงผืนผ้าลวดลายสวยงามที่ยังไม่ได้ตัดเย็บแปรรูป ส่วนคำว่า “วา” เป็นการบอกระยะของแขนที่กางเหยียดตรงออกไปทั้งสองข้าง ชาวบ้านจะนำผ้าแพรวาออกมาใช้ เมื่อมีเหตุสำคัญหรือในงานบุญใหญ่เท่านั้น

              การที่ผ้าไหมแพรวามิได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ขาดการสืบทอด จนมีแนวโน้มว่าการทอผ้าไหมแพรวา กำลังจะสูญหายไป จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณโดยแท้ ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมพสกนิกรที่อำเภอคำม่วง เมื่อปี ๒๕๒๐ ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น ได้นำมาสู่การอนุรักษ์ผ้าไหมแพรวา ภูมิปัญญาสูงค่า ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา หลังจากพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวภูไทบ้านโพนนับสิบคนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ แต่งตัวตามประเพณีโดยใช้ผ้าไหมแพรวา ห่มเป็นสไบเฉียง หรือที่เรียกว่า ผ้าเบี่ยง ด้วยความ สนพระราชหฤทัย จึงทรงไต่ถามราษฎรจนได้ความว่า ผ้าไหมแพรวา เป็นผ้าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และลูกหลานได้นำมาใช้สืบต่อกันมา ซึ่งมีจำนวนลดน้อยลง จากการที่ขาดการสืบทอดมาสู่เด็กสาวรุ่นใหม่ แม้ในหมู่บ้านเองเมื่อมีงานสำคัญที่ต้องแต่งกายตามประเพณีก็ต้องหยิบยืมกันใช้

              ด้วยความสูงค่าด้านภูมิปัญญา และความงามวิจิตรของผ้าไหมแพรวา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์การทอผ้าไหมแพรวาไว้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขาธิการ นำเส้นไหมมามอบให้แก่ชาวบ้านเพื่อทอผ้าไหมแพรวาถวาย เมื่อชาวบ้านทอผ้าไหมแพรวาเสร็จแล้ว จึงได้นำไปทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วังไกลกังวล ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๑ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพอพระราชหฤทัยมาก และทรงนำไปตัดฉลองพระองค์งซึ่งงดงามเป็นที่ประจักษ์ ต่อมา ได้มีรับสั่งให้จัดตั้ง “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร” ขึ้น

              จากนั้นเป็นต้นมา กิจกรรมทอผ้าไหมแพรวาก็ได้รับการฟื้นฟูให้เจริญรุดหน้าขึ้นเป็นลำดับ และในปี ๒๕๓๘ ได้ขยายการดำเนินงานเป็น “กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมบ้านโพน” มีสมาชิก ๔๕๐ คน ล่วงมาถึงปี ๒๕๕๑ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็น “สหกรณ์ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนกาฬสินธุ์ จำกัด” โดยยังคงอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

              ปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน มีสมาชิกมากกว่า ๘๐๐ คน อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งครอบคลุม ๔ อำเภอ คือ อำเภอคำม่วง อำเภอสมเด็จ อำเภอสามชัย และอำเภอสหัสขันธ์

              เมื่อการทอผ้าไหมแพรวาเป็นกลุ่มอาชีพในโครงการศิลปาชีพฯ แล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนารูปแบบการทอ จากผ้าที่ยาว ๑ วา กว้างครึ่งวา ให้ขยายออกเป็นผืนผ้าที่มีขนาดมาตรฐาน โดยส่วนหนึ่งยังคงเป็นผ้าแพรวายก ลายดอกตามลวดลายต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม อีกส่วนหนึ่งให้เป็นผ้าสีพื้น มีความยาว ๕ เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ตัดชุดของสตรีได้ ๑ ชุด ทั้งยังให้พัฒนาสีพื้นให้มีความหลากหลาย และให้มีลายดอกสลับสอดสีไหมให้กลมกลืนแลดูสวยงาม เพื่อให้เหมาะสำหรับทั้งชายและหญิง ที่จะนำไปตัดชุด ผ้าไหมแพรวาจึงเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในหมู่ชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ชาวบ้านที่ บ้านโพนก็มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไหมแพรวาเป็นอาชีพหลัก จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืน อันเป็นผลมาจากการที่ได้สืบทอดการทอผ้าไหมแพรวาไว้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบไป

เส้นทาง : ศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวา

​หมู่ ๕​ บ้านโพน​ ​ อำเภอคำม่วง​ จังหวัดกาฬสินธุ์​