ศูนย์วิจัยและพัฒนาแพะแกะ ในปัจจุบันเป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องมาจากโครงการแพะภาคใต้ตามพระราชดำริ ซึ่งศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ จังหวัดยะลา ได้รับผิดชอบโครงการ โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะนมในโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารแก่ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ปัจจุบันได้ขยายผลการดำเนินงาน ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยง แพะ แกะ และไก่ โดยเฉพาะไก่พันธุ์เบตง ซึ่งเป็นไก่พันธุ์ที่ได้รับการรับรองให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดยะลา (GI) ช่วยให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการปศุสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม โดยไม่ต้องลงทุนสูง
๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรฟาร์มตัวอย่างฯ วังพญา-ท่าธง ทรงให้อาหารแพะ ในโครงการแพะภาคใต้
วิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับสัตว์ ที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะแพะ
จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ใน ๕ จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เลี้ยงแพะไว้ครัวเรือนละ ๑-๖ ตัว เพื่อใช้เนื้อแพะประกอบพิธีกรรมและบริโภคในครัวเรือน โดยเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ ตามเรือกสวนไร่นา การส่งเสริมการเลี้ยงแพะและแกะ ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ จึงเป็นแนวทางที่สามารถส่งเสริมให้เป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม จากการที่แพะและแกะเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง หากินใบไม้ใบหญ้าได้เอง ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ แข็งแรง ไม่ติดโรคง่าย ทั้งยังให้ผลผลิตทั้งเนื้อและนม ทั้งเนื้อแพะ และเนื้อแกะ เป็นอาหารที่มีโปรตีนซึ่งร่างกายมนุษย์สามารถย่อยและดูดซึมไปใช้ได้ดี และมีไขมันในระดับต่ำกว่าเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ สำหรับนมแพะก็มีคุณค่าทางอาหารสูง แม้แต่มูลแพะก็ใช้ทำปุ๋ยได้ดี ตลอดจนเลือดและกระดูกก็สามารถแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ส่วนหนังและขน โดยเฉพาะขนแกะ ก็นำมาแปรรูปเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ และสิ่งทอได้
ในปี ๒๕๔๙ กองศิลปาชีพ สำนักราชเลขาธิการ ได้สนองพระราชดำริด้วยการดำเนินกิจกรรมการเลี้ยงแพะนม เพื่อสนับสนุนโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ ๒ แห่ง คือ สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์เทพา จังหวัดสงขลา มีแม่พันธุ์แพะ ๒๐๐ ตัว พ่อพันธุ์แพะ ๘ ตัว และ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธ์ุสัตว์ จังหวัดยะลา มีแม่พันธุ์แพะ ๑๐๐ ตัว พ่อพันธุ์แพะ ๔ ตัว ลูกแพะที่ผลิตได้จะจัดส่งไปยังฟาร์มตัวอย่างฯ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ ๑๘ แห่ง และมอบให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงโครงการด้วย
ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา