พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน สถาบันสิริกิติ์

- หัตถศิลป์ลูกหลานไทย รักษาไว้คู่แผ่นดิน -

IDB_7684-

             พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นส่วนงานหนึ่งของ “สถาบันสิริกิติ์” และ “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอก และผลงานศิลปาชีพคัดสรร ซึ่งทุกผลงานที่นำมาจัดแสดงได้ผ่านกระบวนการแบบโบราณที่ครั้งหนึ่งเคยสูญหาย แต่ในเวลาต่อมาสถาบันสิริกิติ์ ได้ศึกษาและรื้อฟื้นแล้วนำกลับคืนมาอีกครั้ง เช่น งานคร่ำเงิน คร่ำทอง ถมเงิน ถมทอง งานแกะสลักไม้ และงานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ เป็นต้น ผลงานหัตถศิลป์วิจิตรตระการตาในพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดินทั้งหมดนี้ สร้างสรรค์โดยลูกหลานเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เป็นการสะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการทรงงานเพื่อบำบัดทุกข์ของพสกนิกร และพิสูจน์ถึงศักยภาพของพสกนิกรชาวไทยอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเป็นเครื่องยืนยันว่า ผลการทรงงานที่ยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือการพัฒนาคน เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญา และพัฒนาประเทศชาติ อย่างแท้จริง

             สำหรับศิลปาชีพนั้น เป็นโครงการในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ครั้งที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระองค์ได้ทอดพระเนตรราษฎรที่มีฐานะยากจน ซึ่งในโอกาสดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชกระแสรับสั่งว่า การนำสิ่งของไปพระราชทานแก่ราษฎรไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากจะทำให้ราษฎรรอรับแต่ความช่วยเหลือ

             สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎรเพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ด้วยวัตถุประสงค์สำคัญ ๒ ประการ คือ ประการแรก เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน ประการต่อมา คือ เพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ความตอนหนึ่งว่า

www.siamrath.co.th-n-21120_Change-ToSlace-edit

มูลนิธิศิลปาชีพฯ นี้ ตั้งขึ้นมาก็เพื่อช่วยเหลือคนยากจน โดยเฉพาะครอบครัวชาวนา

เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งเสมอว่า เมืองไทยนี้ประเสริฐนักและเราไม่รู้สึกกัน

ในการที่ประเทศไทยสามารถผลิตข้าว ผลิตอาหารเลี้ยงตัวได้ ทำให้เกิดภาวะที่มั่นคงภายในประเทศขึ้นมาก

แต่เราไม่ทันรู้สึก ที่นี่ชาวนายากจน ข้าพเจ้าดีใจที่ทรงมอบหมายให้ดูแลครอบครัวของชาวนา

จึงได้เกิดมูลนิธิศิลปาชีพฯ ขึ้น”

             มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ แบ่งการทำงานออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนภูมิภาค ที่มุ่งเน้นให้ราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลได้มีอาชีพในครัวเรือน ไม่ต้องขายไร่นา ละทิ้งถิ่นฐานไปแออัดในเมือง และส่วนกลางที่สวนจิตรลดา ซึ่งได้พระราชทานพื้นที่ภายในวังสวนจิตรลดา บริเวณกองราชเลขานุการในพระองค์ฯ เปิดเป็น “โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา” เมื่อปี ๒๕๒๑ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรม โดยทรงจัดหาครู และช่างศิลป์ชาวบ้านที่มีฝีมือดีมาถ่ายทอดงานหัตถศิลป์ให้แก่เยาวชนที่ทรงรับมาจากครอบครัวชาวนา ชาวไร่ ผู้ยากจนไม่มีที่ทำกิน เยาวชนที่ได้รับโอกาสให้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกฝน ที่โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ล้วนเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีทั้งทักษะฝีมือทางศิลปะ และทักษะการอ่านเขียน ครูผู้สอน และผู้เรียน จึงต่างต้องใช้ความเพียรพยายามต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน จนสามารถสร้างผลงานศิลปะที่สวยงาม เป็นเลิศ และสร้าง “คน” ที่มีคุณค่า มีการศึกษา มีวิชาชีพ มาเป็นผู้อนุรักษ์งานศิลปะประจำชาติไม่ให้สูญหาย จนถึงปี ๒๕๕๓ โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา จึงได้รับการยกระดับเป็น “สถาบันสิริกิติ์” เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕

            เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ พระองค์ได้มีพระราชเสาวนีย์ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ถึงงานนิทรรศการศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ ๔ ซึ่งจัดขึ้น เมื่อปี ๒๕๔๗ ความตอนหนึ่งว่า

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเปิดงานศิลป์แผ่นดินในครั้งล่าสุด

ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เห็นแล้วบังเกิดความสุขความปีติโสมนัสอย่างยิ่งว่า

นี่คือคนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าเอาใจใส่ และเอามาจากครอบครัวชาวนาที่ยากจน 

 บัดนี้กลายมาเป็นครอบครัวชาวนาที่มีความสามารถสูงสุดในทางด้านศิลปะ

และที่มาตอบแทนพระคุณแผ่นดินได้ ท่านทั้งหลายคงเห็นกับตาแล้วว่างานฝีมือชั้นเลิศทั้งหลาย

เป็นฝีมือของลูกหลานชาวนาทั้งนั้น วันนั้นเป็นวันที่ข้าพเจ้าปลาบปลื้มปีติเหลือเกิน

DJI_0057 (1)

             นอกจากภารกิจในการสร้างคนให้เป็นช่างฝีมือที่มีความชำนาญในศิลปะประจำชาติหลากหลายแขนงแล้ว สถาบันสิริกิติ์ยังพัฒนาองค์ความรู้และเทคนิคทางศิลปะไทยโบราณขึ้นมาใหม่ เช่น เทคนิคการปักไหม การตกแต่งปีกแมลงทับ และงานช่างทอง เป็นต้น ผลงานหลายชิ้นเคยนำไปจัดแสดงในต่างประเทศ หรือนำออกใช้งานบนโต๊ะพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำในโอกาสที่พระราชอาคันตุกะมาเยือนประเทศไทย ผลงานดังกล่าวจัดเป็นทูตวัฒนธรรมที่บอกชาวโลกได้ว่า ประเทศไทย คนไทย มีศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อันยาวนาน แม้สองมือของลูกหลานเกษตรกรที่ผละจอบเสียมมาจับสิ่ว และเข็มด้าย เมื่อพวกเขาทุ่มเทเวลา สติปัญญา และแรงกาย ก็สามารถสร้างสรรค์ประณีตศิลป์ที่ทรงคุณค่าได้

            สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ถึงผลงานที่เหล่าช่างสถาบันสิริกิติ์สร้างสรรค์ขึ้นว่า ไม่ให้นำไปจำหน่าย แต่ให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” ซึ่งแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม ก่อนย้ายออกไป ณ ที่ตั้งแห่งใหม่ คือที่ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้เป็นสถานที่เก็บรักษาสมบัติคู่แผ่นดินไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมมายาวนาน ดังความในพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ได้พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ว่า

…คนเหล่านี้ เป็นลูกชาวไร่ ชาวนาที่ยากจนที่สุด และข้าพเจ้าเลือกมาเป็นพิเศษ

เลือกจากความยากจน ครอบครัวไหนยากจนที่สุด แล้วมีลูกมากที่สุด

จะเลี้ยงตัวเองไม่ได้  ข้าพเจ้าจึงเลือกมา แล้วมาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ที่ตึกเก่า ๆ ที่ดั้งเดิมเป็นที่อยู่ของเจ้านายต่าง ๆ มากมายก่ายกอง

ข้าพเจ้าให้เขาอยู่ที่นั่น แล้วก็มาทำการฝึกฝนที่จิตรลดา…

เส้นทาง : พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน

ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา