ศิลปาชีพศึกษาพัฒนาไหมไทยพื้นบ้าน ไหมดาหลา และแมลงทับ

             ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล และพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังเป็นที่ประจักษ์ได้จากพระราชเสาวนีย์ ที่ทรงให้ศึกษาพัฒนาองค์ความรู้และคุณภาพของไหมไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทำให้ปัจจุบัน เกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหมและช่างทอผ้ามีอาชีพที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างเป็นปกติสุข

             โครงการศิลปาชีพศึกษาพัฒนาไหมไทยพื้นบ้าน ไหมดาหลา และแมลงทับ จังหวัดสระแก้ว อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยส่งเสริมหม่อนไหมสระแก้ว กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ดำเนินโครงการเชิงรุก เพื่อนำร่องในพื้นที่โครงการศิลปาชีพฯ จังหวัดสระแก้ว ด้วยการจัดเป็นสถานที่ศึกษา ทดลอง และถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการเลี้ยงไหม และการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากไหม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน โครงการศิลปาชีพศึกษาฯ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ๔ ด้าน คือ

             ๑. การถ่ายทอดความรู้ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เพาะเลี้ยงน้อยลง เนื่องจากไหมพันธุ์ต่างประเทศลูกผสมให้ผลตอบแทนสูงกว่า และได้พบว่ามีการซื้อเส้นไหมลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาทอเป็นผืนผ้า ทำให้ผ้าไหมไทยมีคุณภาพลดลง ขาดเอกลักษณ์ของความเป็นผ้าไหมไทยที่แท้จริง ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โครงการศิลปาชีพศึกษาฯ จึงดำเนินการเก็บรวบรวมและศึกษาพันธุ์ไหมไทยพื้นบ้านไว้เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ และจัดเป็นแหล่งรวบรวมเชื้อพันธุกรรมไว้ไม่ให้สูญหายไปจากประเทศไทย

             ๒. การศึกษาไหมดาหลา ซึ่งเป็นหนอนผีเสื้อ Atlas moth เป็นผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ ระยะที่เป็นตัวหนอนจะกินใบกระท้อน ใบฝรั่ง ใบขนุน และใบดาหลา ซึ่งเป็นพืชประเภทเดียวกันกับขิงและข่า รังไหมชนิดนี้ถูกพบโดยบังเอิญเมื่อครั้งที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิม พระเกียรติฯ หนองคาย ได้นำต้นดาหลามาปลูกเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์เป็นไม้ประดับ ปรากฏว่ามีหนอนผีเสื้อมากัดกินใบดาหลาและเติบโตจนเข้าดักแด้ทำรังไหมขนาดใหญ่ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงนำเส้นใยไปศึกษา พบว่าเป็นเส้นใยธรรมชาติที่เหนียวและทนทานที่สุดชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่มีคุณสมบัติหลากหลายถึง ๑๕ ชนิด จากนั้นได้นำมาทดลองทอเป็นผืนผ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๕๕ ด้วยคุณสมบัติที่ดีและสามารถนำมาทอเป็นผืนผ้าได้สวยงามแปลกตา โครงการศิลปาชีพศึกษาฯ สระแก้ว จึงได้ศึกษา พัฒนาการเลี้ยง และการใช้ประโยชน์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

             ๓. การเลี้ยงแมลงทับ ซึ่งเป็นแมลงปีกแข็งพื้นบ้านที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ สีเขียวน้ำเงินเหลือบทองหรือทองแดง เหลือบรุ้งแวววาว คงทนไม่ซีดจาง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระราชหฤทัยและมีพระราชดำริให้ศึกษาวิจัยให้รู้ถึงวงจรชีวิตและนิเวศวิทยา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพาะเลี้ยงเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ และเพิ่มจำนวนให้มากพอ เพื่อให้สามารถนํามาใช้เป็นวัตถุดิบในการประดิษฐ์งานศิลปหัตถกรรมของมูลนิธิศิลปาชีพฯ ได้โดยไม่เป็นการทำลายธรรมชาติ

             สำหรับที่มาของพระราชดำริในการอนุรักษ์แมลงทับเกิดขึ้นในปี ๒๕๒๕ ในช่วงเวลาสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเลือกผ้าในท้องพระคลังเพื่อใช้ในพระราชพิธี พระองค์ทรงพบว่าผ้าทรงสะพักในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่ตกแต่งด้วยปีกแมลงทับยังมีคงความแวววาวสวยงาม ทั้ง ๆ ที่ เป็นหัตถศิลป์โบราณซึ่งผ่านกาลเวลามายาวนาน จึงมีพระราชดำริให้นำปีกแมลงทับจำนวนมากที่ราษฎรได้นำมาถวายเมื่อครั้งเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน เมื่อปี ๒๔๙๘ ออกมาใช้ประดับฉลองพระองค์ และใช้ในงานชองมูลนิธิศิลปาชีพฯ ต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับสนองพระราชดําริ จัดตั้งโครงการอนุรักษ์แมลงทับในประเทศไทยขึ้น และนักวิชาการด้านกีฏวิทยาได้เริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแมลงทับมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ ในปัจจุบันโครงการศิลปาชีพศึกษาฯ ได้ต่อยอดศึกษาและพัฒนา ทั้งการเลี้ยงและการเพาะพันธุ์ ได้เป็นผลสำเร็จแล้ว

             ๔. ไหมอีรี่รังเหลือง หรือไหมมันสำปะหลังสระแก้ว (CASA SILK) เป็นไหมพันธุ์ใหม่ ซึ่งค้นพบในปี ๒๕๖๔ เป็นไหมที่กินใบมันสำปะหลัง แต่แตกต่างไปจากไหมทั่วไปที่มีสีขาวขุ่น ส่วนไหมมันสำปะหลังสระแก้วมีรังสีเหลืองเข้ม ขนาดใหญ่ ยาวเรียว เส้นใยสานกันหลวม ๆ ปลายรังมีรูเปิดเล็ก ๆ ทำให้เส้นใยไม่ขาด เมื่อผีเสื้อออกจากรัง จึงสามารถดึงเส้นใยจากรังได้ด้วยวิธีปั่น (Spun) ไม่ต้องต้มรังขณะที่ยังมีดักแด้ไหมอยู่ในรังเหมือนไหมกินหม่อน อีกทั้งไหมมันสำปะหลังสระแก้ว ยังมีกรดอะมิโน และลูทีน ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเวชสำอางได้

             ปัจจุบันหน่วยส่งเสริมหม่อนไหมสระแก้ว และโครงการศิลปาชีพศึกษาฯ ได้เริ่มแจกจ่ายพันธุ์ไหมซึ่งผ่านการพัฒนาจนได้สายพันธุ์ที่นิ่ง มีเส้นใยสีเหลืองสวยงาม ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังนำไปเลี้ยง เพื่อเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ต่อไป

เส้นทาง : ศิลปาชีพศึกษาพัฒนาไหมไทยพื้นบ้าน ไหมดาหลา และแมลงทับ

บ้านคลองหมี ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว