ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง

- เที่ยวชมศิลปหัตถกรรม ตามพระราชดำริ -

             ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง เป็นศูนย์ศิลปาชีพซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับ “ฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สีบัวทอง” นับเป็นโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ลำดับที่ ๔๖ จัดเป็นอีกหนึ่งสถานที่ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้า มาท่องเที่ยวและศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปหัตถกรรม เพื่ออนุรักษ์ศิลปะไทยโบราณไม่ให้สูญหาย พร้อมกันไปกับการสร้างอาชีพให้ราษฎรโดยรอบศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ด้วยกิจกรรมด้านศิลปาชีพ ๔ แผนก คือ แผนกทอผ้า แผนกปักผ้า แผนกผลิตกระดาษข่อย และแผนกผลิตเครื่องเซรามิก ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ทักษะด้านต่าง ๆ และนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปฝึกฝนเพื่อการประกอบอาชีพได้

             จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การจัดตั้ง ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง มาจากความเดือดร้อนและความยากลำบากในคราวที่ราษฎรในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ๑ ใน ๔๖ จังหวัด ที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ในช่วงปลายปี ๒๕๔๙ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบปัญหา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จังหวัดอ่างทองจัดสร้างศาลาอเนกประสงค์ และทำฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ขึ้นเป็นลำดับแรก โดยให้จัดตั้งบนที่ดินซึ่งเป็นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและไร้ที่อยู่ จะได้มีที่พักอาศัยขณะน้ำท่วม ขณะเดียวกันเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของประชาชนด้วย เนื่องจากหลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนั้น ราษฎรจังหวัดอ่างทองจำนวนมากไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพในที่ดินของตนได้ดังเดิม สำหรับพื้นที่ที่จังหวัดจัดหาเพื่อสนองพระราชดำริ ในการจัดตั้ง “ฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” คือ บริเวณหนองระหารจีน ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง บนเนื้อที่ประมาณ ๓๖ ไร่ เป็นพื้นที่ดิน ๒๓ ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ ๑๓ ไร่ ซึ่งใช้สำหรับการทำการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง

๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง และฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านยางกลาง

             ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยประชาชนในพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ในครั้งนั้นได้มีพระราชเสาวนีย์ให้จังหวัดจัดหาพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก ๑ แห่ง ซึ่งจังหวัดอ่างทองได้สนองพระราชดำริด้วยการจัดพื้นที่ราชพัสดุที่ว่างเปล่า แต่มีระบบส่งน้ำชลประทานที่สมบูรณ์ และไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง จำนวน ๕๘๗ ไร่ ในหมู่ ๓ ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ถวายเพิ่มเติม การดำเนินงานสืบเนื่องมาถึงปี ๒๕๕๐ ได้มีการขยายฟาร์มตัวอย่างฯ แห่งที่ ๒ จัดตั้งเป็น โครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามแนวพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (บ้านยางกลาง) หรือ“ฟาร์มตัวอย่าง ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สีบัวทอง” ซึ่งมีพื้นที่นับพันไร่ เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยราคาถูกในท้องถิ่น

             จากความสำเร็จของโครงการฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ให้ช่วยเหลือบุตรหลานของครอบครัวราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงที่ยังไม่มีอาชีพด้วย โดยให้พวกเขาเข้ารับการฝึกอาชีพที่โครงการฯ ซึ่งได้จัดตั้ง ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ขึ้น เป็นหนึ่งองค์ประกอบของฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริ บ้านยางกลาง ซึ่งทั้งศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองและโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ จัดเป็นแหล่งศึกษาวิถีชีวิตของเกษตรกรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่ดำเนินการฝึกอบรม และจัดแสดงศิลปาชีพ ๔ แผนก ได้แก่

             แผนกทอผ้า สาธิตการทอ ‘ผ้ายกราชสำนักไทยโบราณ’ ซึ่งมีกระบวนการที่ซับซ้อน ใช้ช่างทอผ้า ๔-๕ คน ทำงานพร้อมกัน เพื่อให้ได้ผ้าทอลายโบราณที่มีความกว้าง ๑ เมตร ยาว ๓.๕ เมตร โดยใช้เวลานานถึงสามเดือน

             แผนกปักผ้า เพื่อการแสดงโขนพระราชทานฯ นำลวดลายปักสะดึงกลึงไหมอย่างโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ มาจัดทำเครื่องแต่งกายตัวพระ-ตัวนาง เป็นงานปักผ้าซึ่งมีความละเอียดประณีตในทุกส่วนประกอบ

             แผนกกระดาษข่อย ผลิตกระดาษข่อยด้วยกรรมวิธีโบราณที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาไม่ให้สูญหาย เพื่อเป็นกระดาษสำหรับการขึ้นรูปหัวโขน

             แผนกเครื่องเซรามิก ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้ที่ผู้สนใจสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการปั้น และการแต่งแต้มสีสันบนถ้วยเซรามิกด้วยตนเอง

เส้นทาง : ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง

บ้านยางกลาง หมู่ ๓ ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง