สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดําริ บ้านธารทอง

- รักษาป่า พัฒนาชุมชน -

             ด้วยพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสถานีพัฒนา การเกษตรที่สูงตามพระราชดําริ บ้านธารทอง ทำให้บ้านธารทอง ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่มีการพัฒนาจนเป็นชุมชนที่สงบสุข และปลอดภัย ราษฎรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทั้งการเกษตร และศิลปาชีพอย่างเพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี อันส่งผลต่อจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เข้มแข็ง จนทำให้ป่าไม้มีความหนาแน่นมากขึ้น ผืนป่าที่กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ได้กลายเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่กักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้มาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำขุนแม่คำซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ในผืนป่าของโครงการฯ มีน้ำไหลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี คุณภาพน้ำในลำห้วยมีความใสสะอาด ทั้งยังเป็นต้นน้ำลำธารที่ให้ประโยชน์แก่ชุมชนอื่น ๆ ตลอดแนวสายน้ำ สมดังชื่อ “บ้านธารทอง” อีกด้วย

             เมื่อแรกเริ่มนั้น บ้านธารทอง เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ที่ราชการฝ่ายปกครองได้จัดสรรพื้นที่ให้เข้าไปอยู่อาศัยเพื่อจะได้เป็นหลักแหล่ง แต่หลังจากที่ชาวบ้านได้ย้ายเข้าไปอยู่อาศัยที่บ้านธารทองแล้ว พบว่ามีปัญหาต่าง ๆ ที่เกินกำลังชาวบ้านจะแก้ไขได้ อาทิ ทำการเกษตรในพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจากขาดน้ำและขาดการปรับปรุงบำรุงดิน และมีที่ดินขนาดไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรด้วยวิถีเก่า ซึ่งต้องหมุนเวียนที่ดิน ด้วยเหตุนี้ ทำให้เกิดการว่างงานและขาดรายได้ ชาวบ้านจึงกลับขึ้นไปบุกรุกและเผาป่าขยายพื้นที่ทำไร่เช่นเดิม ส่งผลให้ป่าต้นน้ำลำธารถูกทำลายเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งยังมีการลักลอบปลูกฝิ่นและลำเลียงยาเสพติดเข้า-ออกทางชายแดน จนเกิดเป็นปัญหายาเสพติดขึ้นในพื้นที่ นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่รัฐ

๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยม ครั้งที่ ๒

             ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านธารทอง” ขึ้น บนพื้นที่ ๘,๕๐๐ ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สภาพป่าต้นน้ำลำธาร พร้อมไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้มีชีวิตที่ดี ในการนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสนองพระราชดำริโดยเร่งดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าและระบบนิเวศน์ ด้วยการจ้างแรงงานชาวบ้าน เพื่อให้มีรายได้และให้มีโอกาสได้เรียนรู้การทำเกษตรด้วยเทคนิคใหม่ ๆ ไปพร้อมด้วย อีกทั้งจะได้รู้จักพืชพันธ์ุที่สถานีได้นำมาสาธิต เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่ของตนซึ่งอยู่เป็นหลักแหล่งได้อย่างยั่งยืน จะได้ไม่ต้องบุกรุกทำลายป่าอีกต่อไป ทั้งนี้ สถานีฯ ได้ถ่ายทอดการเลี้ยงสัตว์และปลูกไม้ผล ไม้ดอกเมืองหนาว และพืชผักปลอดสารพิษ รวมถึงการหาตลาด การขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตผล เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับสถานีด้วย

             ด้านการตลาด การขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตผล เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปัญหาที่พบในระยะแรกคือ การปลูกไม้ดอกเมืองหนาว และผักพันธุ์ต่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องให้ความเอาใจใส่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด ทำให้เกษตรกรที่ยังไม่มีความชำนาญ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นและปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการฯ จนเมื่อเวลาผ่านไป หลังจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรุ่นแรก ๆ สามารถผลิตไม้ดอกเมืองหนาวได้ผลดี ทั้งคุณภาพและปริมาณ สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้แก่ครอบครัว เกิดเป็นแบบอย่างแห่งความสำเร็จ จนมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

             เกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการฯ ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกไม้ดอกเมืองหนาวหลายชนิด ประกอบด้วย ลิลลี่ปากแตร ลิลลี่สีขาว คาร์เนชั่น เอสเตอร์ และบัทท่อน นอกจากนั้น ยังมีพืชผักเมืองหนาว อาทิ กะหล่ำหัวใจ กะหล่ำม่วง และคะน้าฮ่องกง อีกทั้งมีการส่งเสริมให้ปลูกหวายในพื้นที่โครงการฯ เพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศและอนุรักษ์ป่าไม้ด้วย ทำให้ราษฎรได้มีหวายเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทำเป็นสินค้าหัตถกรรม และยังได้แปรรูปยอดหวายเป็นยอดหวายอบแห้งสำหรับเก็บไว้บริโภคอีกด้วย มิใช่เพียงสินค้าด้านการเกษตรเท่านั้น หากแต่ยังมีการส่งเสริมด้านศิลปาชีพโดยช่างฝีมือไว้เป็นอาชีพเสริม เช่น การทำเครื่องประดับชนเผ่าด้วยโลหะเงิน และการเย็บปักผ้าปักลายชนเผ่า เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎรได้เป็นอย่างดี

             การดำเนินโครงการอย่างทุ่มเทของทุกหน่วยงานที่มีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการพัฒนาได้ตามพระราชประสงค์ที่จะ “ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน” ในเวลาต่อมา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อราษฎรและเจ้าหน้าที่โครงการฯ ณ บ้านธารทอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานีฯ อีก เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อทอดพระเนตรความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ซึ่งยังความปลื้มปีติแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่โครงการฯ ที่พร้อมจะร่วมกันรักษาป่า และพัฒนาชุมชน เป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้

เส้นทาง : สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดําริ บ้านธารทอง

บ้านธารทอง ตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย