สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านนาเกียน

- มีน้ำ มีนา มีป่า มีชีวิต -

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านนาเกียน

- มีน้ำ มีนา มีป่า มีชีวิต -

             บ้านนาเกียนในวันนี้ ราษฎรสามารถปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ได้ศึกษาทดลองแล้วนำมาส่งเสริมให้ราษฎรปลูก ซึ่งให้ผลผลิตมากกว่าข้าวสายพันธุ์เดิมประมาณ ๒ เท่า ทำให้มีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคได้ตลอดปี นอกจากนั้น ยังมีการปลูกกาแฟ มะขามป้อม และพริกกระเหรี่ยง เพื่อจำหน่ายอีกด้วย ปรากฏว่ามีรายได้ดี ทำให้ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องบุกรุกแผ้วถางป่าอีกต่อไป ทั้งยังได้กลับมาช่วยราชการในการดูแลรักษาป่า ส่งผลให้สภาพป่าต้นน้ำลำธารกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้น ลำห้วยที่เคยแห้งก็กลับมามีความชุมชื้น มีน้ำซับบริเวณผิวห้วย และจากความชุ่มชื้นของป่านี้เอง ปัญหาไฟป่าในพื้นที่จึงลดลงอย่างมาก

IMG_7930

             บ้านนาเกียน ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนในพื้นที่ราบบนหุบเขาที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีน้ำแม่ฮองไหลผ่านซึ่งเหมาะต่อการทำการเกษตร แต่ถ้ามองย้อนกลับในอดีต จะพบว่าได้เกิดปัญหาจากการมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ที่นำมาสู่การบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธารอย่างหนัก ทั้งนี้ เพื่อการใช้ไม้และขยายที่ทำกิน ความต้องการใช้ทรัพยากรในพื้นที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การแผ้วถางป่าขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง ที่ดินเพื่อทำการเกษตรถูกนำมาใช้ไม่ถูกหลัก ประกอบกับขาดการบริหารจัดการที่ดี ดินจึงเสื่อมคุณภาพ และป่าที่เสื่อมโทรมทำให้ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งด้วย ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ ไม่พอเลี้ยงชีพ

             สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบถึงความลำบากเดือดร้อนของราษฎร จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านนาเกียน ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘

             สถานีฯ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ ได้แนะนำและส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกข้าวเพิ่มขึ้น โดยเปลี่ยนสายพันธุ์ข้าวจากข้าวพันธุ์พะดู ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง ๒๖๐ กิโลกรัมต่อไร่ มาเป็นข้าวพันธุ์ขะสอ ๖๒ ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยถึง ๕๔๑ กิโลกรัมต่อไร่ ส่งผลให้ราษฎรมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี และยังเหลือจำหน่ายให้สถานีฯ เป็นรายได้เสริมด้วย เมื่อสถานีฯ รับซื้อข้าวเปลือกจากชาวบ้านแล้ว ได้นำมาแปรรูปเป็นข้าวกล้องเพื่อจำหน่าย โดยใช้ชื่อว่า ข้าวกล้องดอยนาเกียน ทั้งยังสนับสนุนให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกและแปรรูป มะขามป้อม และพริกกะเหรี่ยง รวมทั้งการปลูกกาแฟในสวนหลังบ้าน แล้วร่วมกันทำการตลาด โดยการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟบ้านนาเกียน

             จากการทำการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการนำภูมิปัญญาพื้นถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ เช่นการใช้ช้างไถนาขั้นบันได มาส่งเสริมการท่องเที่ยวทำให้ปัจจุบันราษฎรมีรายได้ต่อครัวเรือน เฉลี่ยปีละ ๗๐,๐๐๐ บาท ซึ่งมากกว่าระยะเริ่มแรกของการจัดตั้งโครงการที่ราษฎรมีรายได้ต่อครัวเรือน เฉลี่ยเพียงปีละ ๕,๕๐๐ บาท

             เวลาล่วงมาถึงปัจจุบัน จากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ป่าต้นน้ำบริเวณดอยซอยเทอลู่ได้รับการฟื้นฟู จนคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าไม้มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น สัตว์ป่าหายากซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะนกเงือกและชะนี รวมไปถึงต้นน้ำลำธารได้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนมีน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคในครัวเรือน และทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอ

เส้นทาง : สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านนาเกียน

ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่