โครงการฟื้นฟูสภาพป่าพื้นที่อำเภอไชยปราการและพื้นที่ข้างเคียง

พื้นที่ที่ ๒ (ห้วยจะค่าน)

๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยจะค่าน ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว

             การดำเนินโครงการฯ ตามแนวพระราชดำริใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ ห้วยจะค่าน เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ราษฎรมีที่อยู่อาศัย และที่ทำกินที่เป็นหลักแหล่งชัดเจน จนสามารถประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้การบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ลดน้อยลง หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีการบุกรุก สภาพพื้นที่ป่าอนุรักษ์จึงฟื้นคืนกลับมาสู่ความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำคุณภาพของชุมชนอีกครั้ง ประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน อาทิ มีการพัฒนาสวนป่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้านอาหารการกิน ก็ทำอาหารจากป่า เรียกว่าเป็น “ป่าพื้นบ้านอาหารชุมชน” และด้วยความรู้ ที่ได้รับจากโครงการ ช่วยให้ราษฎรทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

             โครงการฟื้นฟูสภาพป่าฯ ที่ห้วยจะค่าน มีจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกับที่ห้วยสูน กล่าวคือ เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไป ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โครงการเกษตรหลวงดอยอ่างขางเมื่อปี ๒๕๓๖ พระองค์ได้ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศ และสภาพป่าไม้บริเวณเส้นทางบิน จากดอยอ่างขาง บ้านถ้ำงอบ บ้านสินชัย อำเภอไชยปราการ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำเภอเชียงดาว ทรงพบว่า พื้นที่หลายแห่งถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้างหลายแห่ง พระองค์จึงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ว่า “ให้แก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายพื้นที่ และนำโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่มาใช้ดำเนินการ”

IMG_5072-

             ต่อมาในปี ๒๕๓๗ ราษฎรลีซอที่อพยพมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาในการทำการเกษตร เนื่องจากใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ดิน และมีน้ำไม่เพียงพอกับพื้นที่ที่ทำการเกษตร ทำให้ราษฎรขาดอาหาร และส่งผลให้คุณภาพชีวิตตกต่ำลง เมื่อ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบจึงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ความโดยสรุปคือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กองทัพภาคที่ ๓ กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จังหวัดเชียงใหม่ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๓๒ ฯลฯ ร่วมกันพิจารณาจัดหาพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรชาวเขาเผ่าลีซอกลุ่มนี้ใหม่ โดยเลือกพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำเพียงพอต่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ส่วนพื้นที่เดิมให้ปลูกป่า และฟื้นฟูสภาพป่าต่อไป

             หน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันสนองพระราชดำริ โดยการย้ายราษฎรทั้งหมดจากบ้านแข่ลีซอ ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ มาอยู่ในพื้นที่บ้านห้วยจะค่าน ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘ การดำเนินงานดังกล่าวใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการฟื้นฟูพื้นที่อำเภอไชยปราการและพื้นที่ข้างเคียง พื้นที่ที่ ๒ (ห้วยจะค่าน) อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่” โดยมีพื้นที่รับผิดชอบรวมทั้งสิ้น ๒๖,๘๗๕ ไร่

IMG_5189

             การดำเนินงานโครงการ เป็นไปตาม พระราชดำริอย่างต่อเนื่อง จนประสบผลสำเร็จ ได้พื้นที่กลับคืนมาเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ปัจจุบันทั้งสภาพป่าและคุณภาพชีวิตราษฎรดีขึ้นมาก โครงการจึงพยายามส่งเสริมและผลักดันให้การท่องเที่ยวเกิดขึ้น เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ว่า “พื้นที่โครงการฯ บ้านห้วยจะค่าน เป็นพื้นที่สวยงาม ควรจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว” ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ว่า “ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติให้มากขึ้น” โครงการฯ และชุมชนจึงร่วมมือกันจัดพื้นที่ตลาดวัฒนธรรม “กาดปากตางพม่า” ขึ้น เมื่อปี ๒๕๖๐ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้มีพื้นที่จับจ่ายสินค้าและอาหารพื้นเมือง เป็นการช่วยให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้ ทั้งยังได้สืบสานภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของชุมชนไว้ด้วย

24955391_1400995653342750_5471197725116837736_o-edit

เส้นทาง : โครงการฟื้นฟูสภาพป่าพื้นที่อำเภอไชยปราการและพื้นที่ข้างเคียง พื้นที่ที่ ๒ (ห้วยจะค่าน)

ตำบลปิงโค้ง  อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่