โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยดำ

- สายรุ้ง และไข่มุกดำ ในป่าต้นน้ำลำธาร -

              ดอยดำ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งทุกวันนี้ยังคงมีป่าไม้สมบูรณ์ มีสายน้ำเย็นฉ่ำตลอดทั้งปี ด้วยผลจากการดำเนินงานตามโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ที่มีการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม การปลูกข้าวให้พอกิน ปลูกพืชท้องถิ่น พืชเมืองหนาว ชาเมี่ยง และกาแฟ ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ หมู และไก่ โดยเฉพาะการศึกษาทดลองเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ และปลาสเตอร์เจียน ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเมืองหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น โครงการได้เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลาทั้ง ๒ ชนิดนี้อย่างครบวงจร จนสามารถนำเนื้อปลาเรนโบว์เทราต์ และไข่ปลาสเตอร์เจียนมาแปรรูปเป็น “คาเวียร์” อาหารราคาสูงเป็นผลสำเร็จ เป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ ส่งผลให้ดอยดำเป็นที่รู้จัก และมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมเยือน มาศึกษา ได้สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้เลี้ยงตนและครอบครัวเป็นอย่างดี

๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร บ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยดำ

              โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยดำ ตั้งอยู่บนพื้นที่ ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ครอบคลุมพื้นที่ ๑๖๑,๘๕๐ ไร่ ดำเนินการตามหลัก ๓ อ. คือ อิ่ม อุ่น และอุดมการณ์ จุดเริ่มต้นของโครงการ เริ่มขึ้นเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปที่ดอยดำครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๔๕ หลังจากได้ทอดพระเนตรพื้นที่แล้ว ได้มีพระราชดำริ ให้จัดตั้งเป็นบ้านเล็กในป่าใหญ่ขึ้น โดยมอบหน้าที่ให้ชาวบ้านในโครงการดูแลและปลูกฟื้นฟู พื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งเป็นยามเฝ้าระวังชายแดน ด้วยทรงพิจารณาว่า พื้นที่ดอยดำยังคงมีแหล่งน้ำอยู่มาก และมีน้ำตลอดทั้งปี ครั้นได้รับสั่งถามราษฎรว่าในน้ำยังมีปลาอยู่หรือไม่ ทำให้ทรงทราบว่าน้ำที่ดอยดำเย็นจัดตลอดทั้งปี มีแต่ปลาท้องถิ่นที่เป็นปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งใช้รับประทานไม่ได้ จึงมีพระราชดำริ …ให้หาปลาที่เลี้ยงได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศหนาว และรับประทานอร่อย มาให้ชาวบ้าน… ด้วยทรงเป็นห่วงว่า หากขาดอาหารประเภทโปรตีน จะทำให้แม่ที่ตั้งครรภ์ และเด็กที่เกิดมาเจริญเติบโตได้ไม่ดีพอ อีกทั้งจะส่งผลต่อสติปัญญาของเด็กที่เกิดมาด้วย

IMG_8567

              กรมประมง ได้รับสนองพระราชเสาวนีย์แล้วนำความมาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของประเทศแคนาดา ซึ่งได้รับการแนะนำให้ทดลองเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ ซึ่งเป็นปลาน้ำเย็นที่อดทน สามารถนำมาเลี้ยงเพื่อการพาณิชย์ได้ โดยในระยะเริ่มแรกได้นำเข้าไข่ปลาที่ผสมพันธุ์แล้วมาฟักที่ดอยดำ เนื่องจากสามารถขนส่งได้สะดวก และมีอัตรารอดสูงกว่าการขนส่งลูกปลาที่ฟักจากไข่แล้ว ปรากฏว่าปลาเรนโบว์เทราต์ที่ฟักจากไข่ปลาเจริญเติบโตได้ดี เมื่อเลี้ยงจนมีอายุ ๒ ปี โครงการฯ ก็เพาะพันธุ์เองได้สำเร็จ และสามารถส่งไปจำหน่ายได้ แม้ตามพระราชดำริในชั้นต้นมีพระราชประสงค์ให้เป็นอาหารของชาวบ้าน แต่ด้วยเหตุที่มีต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างสูง ประกอบกับปลาขายได้ในราคาดีกว่าการเลี้ยงไว้เพียงเพื่อเป็นอาหารในท้องถิ่น จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จ้างงานราษฎรให้ทำงานที่ฟาร์ม โดยได้รับเงินค่าจ้าง เพื่อฝ่ายที่รับผิดชอบไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูง และราษฎรก็ยังมีรายได้ที่เหมาะสม สามารถนำไปซื้ออาหารที่ดี พร้อมกับพัฒนาความเป็นอยู่ของตนเองได้ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “…ขยายการเลี้ยงปลาเพิ่ม ให้ดอยดำเป็นศูนย์ปลาเทราต์ของโครงการพระราชดำริ โดยให้กรมประมง และกรมชลประทานไปปรึกษา กปร.”

              หลังจากประสบความสำเร็จจากการเพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์เทราต์ได้ครบวงจรแล้ว ได้มีพระราชดำริให้ ทดลองเลี้ยงปลาน้ำเย็นอีกชนิดหนึ่ง คือ ปลาสเตอร์เจียน เพื่อนำไข่ปลามาแปรรูปเป็น “คาเวียร์” กรมประมงจึงได้นำเข้าไข่ปลาสเตอร์เจียนพันธุ์ไซบีเรียนจากประเทศเยอรมนีมาเพาะเลี้ยง เวลาผ่านไป ๒ ปี เมื่อเอกซ์เรย์ตรวจเพศปลา พบว่าเป็นปลาตัวผู้ทั้งหมด ส่งผลให้ไม่มีไข่ปลาสำหรับทำคาเวียร์ คงทำได้เพียงจำหน่ายเป็นปลาเนื้อ

              จนถึงปี ๒๕๕๐ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศรัสเซีย ซึ่งช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้น เมื่อมีการติดต่อขอพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนจากรัสเซีย เพื่อนำมาศึกษา วิจัยและเพาะเลี้ยง ทำให้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ไข่ปลาที่ได้รับจากประเทศรัสเซียซึ่งนำมาฟักเลี้ยงได้โตเป็นปลารุ่น เมื่อเอกซ์เรย์ตรวจเพศปลา ปรากฏว่าเป็นปลาตัวเมียจำนวนมาก โครงการฯ ได้ให้การดูแลอย่างดี จนอายุปลาเข้าปีที่ ๗ ได้ใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์ตรวจสอบ อีกครั้ง พบว่าปลามีไข่ จึงได้ขอความร่วมมือจากรัสเซียให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนการแปรรูปไข่ปลาเป็นคาเวียร์ จนในที่สุดสามารถแปรรูปได้สำเร็จ จากนั้นได้ดำเนินการเพื่อจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“คาเวียร์” เดิมเป็นอาหารของชาวอิหร่าน มาจากคำว่า “Khag-avar” แปลว่า “ไข่ปลาปรุงรส”

เส้นทาง : โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยดำ

ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่