สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยแบแล

IMG_6950 (1)

             ดอยแบแล อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอมก๋อย ยางเปียง แม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมเนื้อที่ ๘,๐๗๘ ไร่ พื้นที่เป็นภูเขาสูงที่มีป่าไม้สมบูรณ์และชุ่มชื้น นาขั้นบันไดช่วยเสริมให้บรรยากาศงดงามเพิ่มขึ้น สภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดปีก็เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว คือ เฉลี่ยต่ำสุด-สูงสุด ประมาณ ๑๖-๒๑ องศาเซลเซียสแต่ในบางปีอุณหภูมิลงต่ำสุดประมาณ ๔ องศาเซลเซียสจัดเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีสถานที่ที่ซึ่งพร้อมสำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สถานีเกษตรฯ ดอยแบแล จึงได้พัฒนาชุมชนในพื้นที่ด้วยการเป็นแบบอย่าง รวมไปถึง การสาธิตและส่งเสริมการเกษตรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ราษฎรได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ ดิน และน้ำ ทุกครอบครัวมีกิน มีใช้ มีงานทำ มีรายได้ที่ดีจากพืชผัก ผลไม้เมืองหนาว กาแฟ และศุภโชค ซึ่งสินค้าทุกชนิดเป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพดี

๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕  เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ป่าไม้ ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

             งานพัฒนาพื้นที่ดอยแบแล เริ่มจากการที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ป่าไม้ ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ แล้วทรงพบว่าพื้นที่ป่าบริเวณดอยแบแล ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้างนับพันไร่ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งหากปล่อยให้มี การบุกรุกต่อไปอีก จะทำให้แหล่งต้นน้ำบริเวณ ห้วยอมแฮด ห้วยแบแล ห้วยแม่ตื่น ห้วยพะอัน ห้วยกองซาง และห้วยไคล้นุ่น ประสบกับภาวะแห้งแล้งจากการขาดแคลนน้ำ อันจะนำความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรในพื้นที่อำเภออมก๋อยในอนาคต จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีทดลองการเกษตรบนพื้นที่สูง ให้อนุรักษ์กล้วยไม้ในพื้นที่ และให้จัดระเบียบชุมชนหมู่บ้านใกล้เคียง โดยนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกแผ้วถางแล้วมาจัดทำเป็นแปลงนา แปลงปลูกพืชเมืองหนาว และให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้บุกรุกแผ้วถางป่าเพิ่มขึ้น

IMG_7409 (1)

             หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยในระยะแรก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำโครงการ “นาแลกป่า” ด้วยการจัดเตรียมพื้นที่ทำแปลงนาขั้นบันไดให้ราษฎรที่สมัครใจเข้าใช้พื้นที่ทำนาปลูกข้าวแลกเปลี่ยนกับพื้นที่ป่าที่เคยใช้ทำไร่หมุนเวียน การทำนาโดยได้รับการช่วยเหลือและการสนับสนุนตามหลักวิชาการเกษตร บนที่ดินที่มีสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ และมีปริมาณน้ำฝนน้อย ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นส่งผลให้ราษฎรมีข้าวพอกิน พร้อมไปกับการได้รับความรู้ในการดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

             สำหรับการส่งเสริมการเกษตรด้านอื่น ๆ อาทิ เกษตรธรรมชาติ ด้วยการจัดทำหมูหลุม เลี้ยงปลา และกบ การทำปุ๋ยหมัก การปลูกผักเมืองหนาวและไม้ดอกเมืองหนาว อาทิ ลิลลี่ป่า หงส์เหิร และไม้ผลต่าง ๆ อาทิ พีช พลับ บ๊วย และเกาลัด ตลอดจนการปลูกพืชสวนอุตสาหกรรม คือ กาแฟ และศุภโชค ต้นไม้แถบทวีปอเมริกาใต้ เป็นไม้ยืนต้นโตเร็ว ทรงพุ่มขนาดกลาง เป็นพืชทนต่อความแห้งแล้งได้ดี มีระบบรากใหญ่ และลึก เหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชในเชิงอนุรักษ์ต้นน้ำ มีมากในตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก ตอนเหนือของประเทศบราซิล ศุภโชคนั้น ให้ผลผลิตคือเมล็ด จัดเป็นนัทชนิดหนึ่ง มีรสชาติดี สามารถรับประทานขณะที่ยังดิบอยู่ได้ หรือนำไปแปรรูปโดยการอบ ทอด และต้ม ซึ่งสามารถแปรรูปได้สะดวกกว่านัทชนิดอื่น เช่น แมคคาเดเมีย หรือมะม่วงหิมพานต์ เมื่อแปรรูปแล้วจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ ๓๐๐ – ๖๐๐ บาท

             ศิลปาชีพทอผ้าและการท่องเที่ยว เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่หลายหน่วยงานร่วมกันพัฒนา ทำให้ดอยแบแล เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ที่ได้เข้ามาศึกษาธรรมชาติ ศึกษาวิถีชีวิตของชุมชน และได้ประจักษ์ถึงความสามารถในการสร้างรายได้และยังความภาคภูมิใจให้ตนเองของชาวบ้าน การดำเนินงานทุกด้านของหน่วยที่รับผิดชอบ ได้ส่งเสริมจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าแก่ชาวบ้านที่ดอยแบแล ทำให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมีความสุข

เส้นทาง : สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยแบแล

บ้านขุนอมแฮดนอก หมู่ที่ 5 ตำบลสบโขง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่