This is …

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ จังหวัดชลบุรี

             ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ จังหวัดชลบุรี เปิดให้ประชาชนเข้าชม และศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์เต่าทะเล สำหรับค่าใช้จ่ายในการเพาะขยายพันธุ์และศึกษาวิจัยเต่าทะเลนั้น ส่วนหนึ่งได้จากการเก็บค่าบำรุง การปล่อยลูกเต่า และการรับบริจาคจากประชาชนหรือองค์กรต่าง ๆ การดำเนินงานของศูนย์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยชีววิทยาของเต่าทะเล อนุรักษ์และเพิ่มจำนวนโดยการเพาะขยายพันธุ์แล้วปล่อยลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ ไข่เต่าทะเลที่เก็บมาเพาะขยายพันธุ์ ส่วนใหญ่ได้จากเกาะคราม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ ในการเพาะฟักและอนุบาลนั้น เมื่อลูกเต่ามีอายุประมาณ ๖ เดือน จะติดเครื่องหมายและฝังไมโครชิพไว้เพื่อติดตามผล ก่อนที่จะนำปล่อยลงสู่ทะเล พร้อมกันนั้นจะเก็บลูกเต่าส่วนหนึ่งเลี้ยงไว้เป็นแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ เพื่อศึกษาการผสมพันธุ์และการวางไข่ ซึ่งการเก็บไข่เต่ามาเพาะฟักแล้วปล่อยคืนสู่ท้องทะเลได้ดำเนินการแล้วเป็นจำนวนหลายรุ่น ปรากฏว่ามีประชากรเต่าทะเลในธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยแม่เต่าตัวเดิมที่กลับมาวางไข่ได้ทิ้งระยะห่างประมาณ ๒-๕ ปี รวมทั้งมีแม่เต่าตัวใหม่ขึ้นมาวางไข่ด้วย จากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ยืนยันได้ว่ามีประชากรเต่ารุ่นใหม่อยู่รอด และสืบพันธุ์ในธรรมชาติได้

             โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลดังกล่าว เกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของประเทศไทยที่ลดน้อยลง ตลอดจนสัตว์ทะเลหลายชนิดตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะเต่าทะเล เช่น เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และ เต่าหัวค้อนหรือเต่าหัวโต เป็นต้น ซึ่งในอดีตสัตว์เหล่านี้ได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราษฎรนิยมเก็บไข่เต่าทะเลไปจำหน่ายเพื่อประกอบอาหาร แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้ผู้เก็บไข่เต่าหรือครอบครองเต่าทะเลมีความผิด แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยได้พระราชทานพื้นที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง จัดตั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์ และได้พระราชทานชื่อว่า โครงการสมเด็จ ฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ บนพื้นที่ประมาณ ๑๓๗ ไร่ มีสภาพภูมิประเทศเป็นหาดทรายเงียบสงบและมีโขดหินน้อยใหญ่จำนวนมาก ชายฝั่งยาว ๑,๒๐๐ เมตร กว้าง ๕๕๐ เมตร ทำให้เต่ากระและเต่าตนุ ขึ้นมาวางไข่บ่อยครั้ง

             ปัจจุบันโครงการที่เกาะมันใน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก” โดยได้ขยายขอบเขตความรับผิดชอบในการศึกษาการแพร่กระจาย และขยายพันธุ์สัตว์ทะเลหายากชนิดอื่นด้วย อาทิ พะยูน โลมา หอยมือเสือ และทรัพยากรทางทะเลอื่น ๆ เช่น ปะการัง และหญ้าทะเล ตลอดจนงานวิจัยด้านสมุทรศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วย


             ปี ๒๔๙๐ มีการประกาศพระราชบัญญัติคุ้มครองให้เกาะคราม เกาะอีร้า และเกาะจาน ซึ่งเป็นพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเล เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และปี ๒๔๙๓ กองทัพเรือได้ออกประกาศตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร ให้สงวนพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งบางส่วน ของอำเภอสัตหีบ เพื่อใช้ประโยชน์ราชการทหาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์พันธุ์เต่าให้เป็นไปอย่างเป็นระบบ จนถึงปี ๒๕๓๒ กองทัพเรือจึงได้กำหนดให้พื้นที่บริเวณ เกาะคราม เกาะอีร้า และเกาะจาน อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรักษาทรัพยากร ธรรมชาติ และอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล (นธต.) โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำตามหาดต่าง ๆ บนเกาะ รวม ๑๖ หาด มีหน้าที่เฝ้าตรวจระวังไม่ให้ชาวบ้านลักลอบเก็บไข่เต่า ทำการรวบรวมไข่เต่าเพื่อนำไปเพาะฟักในพื้นที่ศูนย์ฯ และอนุบาลลูกเต่าให้เติบโตและแข็งแรง ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

             ต่อมาในปี ๒๕๓๗ จึงได้จัดตั้ง ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ขึ้น เพื่อเปิดเป็นสถานที่ให้ความรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้แก่ประชาชน โดยให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมการเพาะฟักไข่เต่า การอนุบาลลูกเต่าเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเต่าทะเล ด้วยการดำเนินงานตามพระราชดำริอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ฝ่ายกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

เส้นทาง : ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

กองทัพเรือ สัตหีบ จังหวัดชลบุรี