ปัจจุบัน สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตาม พระราชดำริ “ดอยอมพาย” ประสบความสำเร็จในเรื่องการบริหารจัดการระบบการเพาะปลูกที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) การปลูกพืชไร่ กาแฟ สาธิตการเลี้ยงหมูหลุม เพื่อแจกจ่ายพันธุ์หมูให้แก่ราษฎรที่สนใจนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์เพื่อเป็นอาหาร ในช่วงเวลาเดียวกันยังได้มูลสัตว์สำหรับนำไปปรับปรุงโครงสร้างดินและเทคนิคอื่น ๆ จัดเป็นการเกษตรที่ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนจากสารเคมี และไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและได้ผลผลิตสูง ทั้งนี้ เกิดจากความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันสนองพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่วันที่เริ่มโครงการฯ ได้สร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่เกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตลอดจนได้พัฒนายุวเกษตรกร ได้ตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ การทอผ้าของชนเผ่าลั้วะ การส่งเสริมการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปลูกป่าของชาวบ้านตามแนวพระราชดำริ ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก การรณรงค์เพื่อลดการใช้สารเคมี และการเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนได้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรที่สูงแก่นักเรียน นักศึกษา และเกษตรกร
๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ดอยอมพาย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยต่อการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตาม พระราชดำริ “ดอยอมพาย” เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ดอย อมพาย ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ทั้งสองพระองค์ ทรงพบว่าพื้นที่ป่าบริเวณดอยอมพาย ได้ถูกแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอยอย่างกว้างขวาง เป็นจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ ไร่ และยังมีแนวโน้มว่าราษฎรอาจจะบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้นอีก อันจะส่งผลให้ป่าไม้ถูกทำลายจนหมดสิ้นได้ หากเป็นเช่นนั้นดอยอมพาย ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลำแม่ปิงน้อยที่ไหลต่อไปยังลำน้ำแม่แจ่มอันเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำแม่ปิงเหือดแห้งส่งผลให้ในอนาคตลำน้ำแม่ปิงที่เป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศจะขาดแคลนน้ำได้ จึงมีพระราชวินิจฉัยให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น ณ ดอยอมพาย หมู่ 9 ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยราษฎรในเรื่องน้ำมาก
ได้มาเห็นวันนี้แล้วรู้สึกพอใจและเมื่อได้รับการรายงานถึงความก้าวหน้าในโครงการแล้ว
รู้สึกดีใจ ปลื้มใจมาก ขอบใจนะ”
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ภายหลังการถวายรายงานของอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
พระมหากรุณาธิคุณจากการพระราชทาน โครงการ ช่วยให้ราษฎรในหมู่บ้านมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นปรับเปลี่ยนการทำไร่เลื่อนลอยมาเป็นทำนาขั้นบันได ทำให้ได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ ได้รับผลผลิต ๓๖ – ๔๙ ตัน ในพื้นที่นาเพียง ๘๕ ไร่ ทำให้มีข้าวพอสำหรับบริโภคตลอดปี อีกทั้งสามารถปลูกพืชหลังนา เช่น ถั่วแดง ถั่วลิสง กระเทียม และพริก เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้น ราษฎรที่ได้รับการจ้างเข้าทำงานในสถานียังได้เรียนรู้ถึงการทำการเกษตร การปลูกพืชต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามหลักทฤษฎีของการเกษตร ตลอดจนได้รับการส่งเสริม ให้ปลูกพืช เช่น กาแฟ เสาวรส และพลับ เป็นต้น และให้เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด ปลา และหมู เป็นต้น โดยส่งเสริมให้เลี้ยง “หมูหลุม” เพื่อควบคุมพื้นที่ให้ได้รับความสะดวกในการจัดการ ทั้งยังได้รับประโยชน์จากปุ๋ยคอกหมู นอกเหนือไปจากการได้หมูที่สะอาด เจริญ เติบโตเร็ว และปลอดภัยจากสารเคมีต่าง ๆ
การส่งเสริมราษฎรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้ช่วยให้พวกเขามีรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น กล่าวคือ จากเดิมที่มีรายได้เฉลี่ยปีละ ๓๐,๐๐๐ บาท เป็น ๖๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเพียงพอและยังมีเหลือเก็บ ส่งผลให้คนรุ่นใหม่หลายครอบครัวที่อยู่ในหมู่บ้านได้รับโอกาสที่ดีทางการศึกษา และเมื่อเรียนจบแล้วก็ได้กลับมาพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง
ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่