สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง

             สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง รับผิดชอบพื้นที่ครอบคลุม ๒ หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู ที่บ้านเสาแดง และหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ที่บ้านห้วยเขียดแห้ง ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้าน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้นมาก ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ได้ช่วยสร้างรายได้หลักจากการเกษตร และรายได้เสริมจากงานศิลปาชีพ ได้แก่ การทอผ้า และการทำเครื่องเงิน ส่งผลให้มีรายได้ ครัวเรือนต่อปี ประมาณ ๑๖๐,๐๐๐ บาท รายได้บุคคลต่อปี ประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท นอกจากนั้น สถานีพัฒนา การเกษตรที่สูงฯ ราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังได้ร่วมกันฟื้นคืนสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม จำนวน ๓,๓๐๐ ไร่ ให้กลับเป็นป่าที่มีความสมดุลของระบบนิเวศ และมีความหลากหลายทางชีวภาพดังเดิม ตลอดจนได้หยุดการบุกรุกแผ้วถางป่าบริเวณขุนห้วยยา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำแจ่มตอนบน ทำให้ลำห้วยสาขาที่สำคัญหลายแห่งกลับมามีน้ำตลอดปี

๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บ้านลีซูเสาแดง

             เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร สภาพพื้นที่บ้านเสาแดง ทำให้ทรงทราบว่า พื้นที่ป่าที่นั่นได้ถูกแผ้วถางไปจำนวนหนึ่ง เพื่อใช้ปลูกฝิ่นและทำไร่ ต่อมาเมื่อราชการได้ปราบปรามและแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเข้มงวด ราษฎรจึงเลิกปลูกฝิ่น แล้วหันมาปลูกพืชไร่หมุนเวียนเพียงอย่างเดียว แต่ปรากฏว่าได้ผลผลิตน้อย ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในชุมชน การคมนาคมขนส่งเพื่อนำสินค้าออกไปขายก็เป็นไปด้วยความยากลำบากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เนื่องจากถนนเป็นหล่มโคลน และชำรุดเสียหายจากน้ำกัดเซาะ ประการสำคัญ เยาวชนไม่ได้รับการศึกษาจากการที่ไม่มีโรงเรียน ตลอดจนไม่มีสถานบริการทางด้านสาธารณสุข ปรากฏว่าสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุด มีระยะทาง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๗ กม. การติดต่อสื่อสารก็เป็นไปอย่างยากลำบาก จากการที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ ส่วนที่มีอยู่ก็เป็นเพียงโทรศัพท์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งติดตั้งไว้ที่หมู่บ้านห้วยเขียดแห้งเพียงเครื่องเดียว และใช้การได้ไม่บ่อยครั้ง

             จากข้อมูลที่ทรงรับทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง ขึ้น

             สถานีฯ ได้ถือเอาวันที่ได้รับพระราชทานพระราชดำริ ซึ่งตรงกับ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ วันแห่งความรัก เป็นวันเริ่มต้นดำเนินโครงการ โดยให้ราษฎรบ้านลีซูเสาแดง และราษฎรบ้านกะเหรี่ยงห้วยเขียดแห้งเข้าร่วมในโครงการด้วย พระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ คือ ทรงแนะให้ปลูกป่า เพื่อให้ดินชุ่มชื้น จะได้มีน้ำมากขึ้น และให้จัดหาพันธุ์ปลาที่ทนต่ออากาศหนาวเย็นมาทดลองเลี้ยง รวมทั้งให้จัดตั้งธนาคารข้าวขึ้นที่หมู่บ้านเสาแดงและหมู่บ้านห้วยเขียดแห้ง นอกจากนั้น ยังทรงเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด และระมัดระวัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ละเอียดอ่อน จากการที่เคยเป็นแหล่งปลูก และผลิตยาเสพติดแหล่งใหญ่มาก่อน ซึ่งบ่งบอกให้รู้ว่าราษฎรเคยทำในสิ่งที่ทำเงินได้ง่ายกว่าการทำการเกษตรมาก่อน

             ด้านการดำเนินงาน สถานีฯ ได้สร้างและบำรุงรักษาปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ระบบน้ำ และไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการบริหารให้หน่วยที่ร่วมปฏิบัติงาน พร้อมไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันอนุรักษ์ ร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ รวมไปถึงการปลูกป่าบนพื้นที่เดิมที่เป็นไร่เลื่อนลอยเก่า เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม โดยใช้วิธีการไม้ ๓ อย่าง ที่ให้ประโยชน์ ๔ อย่าง ตามแนวพระราชดำริ ไม้ ๓ อย่าง คือ ๑. ไม้ใช้สอยหรือไม้ฟืน คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน ๒. ไม้กินได้หรือไม้ผล ๓.ไม้เศรษฐกิจ ประโยชน์ ๔ อย่าง คือ ๑. พอกิน คือ การปลูกต้นไม้ที่กินได้ รวมทั้งใช้เป็นยาสมุนไพร ๒. พอใช้ คือ การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าไม้ สำหรับทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน ๓. พออยู่ คือ การปลูกต้นไม้ที่ใช้เนื้อไม้และไม้เชิงเศรษฐกิจให้เป็นป่า ๔. พอร่มเย็น คือ เมื่อเราปลูกป่า จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศดินและน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์

             สถานีฯ ได้เน้นเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ และได้สนับสนุนการปลูกหวายซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นในพื้นที่ป่าชุมชน เนื่องจากหวายเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถนำมาทำเครื่องจักสานและเฟอร์นิเจอร์ สร้างรายได้เสริมให้ชุมชนได้ในอนาคต ตลอดจนได้ส่งเสริมการปลูกพืช เช่น กาแฟ ชา เกาลัด ศุภโชค แมคคาเดเมีย และผักเมืองหนาวต่าง ๆ รวมไปถึงได้ให้การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมูหลุม ไก่ เป็ด และทดลองเลี้ยงแกะขน เป็นต้น

             หลังจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการสถานีพัฒนา การเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ พระองค์ได้มีพระราชดำริให้สร้างโรงฝึกศิลปาชีพ ขึ้น ๒ แห่ง คือ ที่บ้านเสาแดง และบ้านห้วยเขียดแห้ง พร้อมกับได้พระราชทานกี่ทอผ้า (กี่กระตุก) โรงฝึกละ ๒๐ กี่ รวมทั้งให้จัดหาครูมาฝึกสอนการทอผ้าให้ มิใช่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งราษฎรไปฝึกอบรมการทำเครื่องเงิน และการทอผ้า ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ด้วย

เส้นทาง : สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง

ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่