สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์

- พัฒนาภูผา พัฒนาชาติไทย -

12 มกราคม พ.ศ. 2546 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร บริเวณภูพยัคฆ์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยภูคาและป่าผาแดง ตำบลขุนน่าน อำเภอ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน

             นับจากวันที่มีพระราชดำริให้เริ่มดำเนินการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตาม พระราชดำริ ภูพยัคฆ์ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ราษฎรชาวไทยภูเขาในหมู่บ้านเป้าหมายของโครงการ ๔ หมู่บ้าน ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน คือ หมู่ที่ ๑ บ้านห้วยกานต์ หมู่ที่ ๑๐ บ้านกิ่วจันทร์ หมู่ที่ ๑๑ บ้านน้ำช้างพัฒนา และหมู่ที่ ๑๒ บ้านน้ำรีพัฒนา ได้เกิดจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ป่ามากกว่า ๑๐,๐๐๐ ไร่ คืนกลับมาเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ป่าไม้มีความสมบูรณ์ ส่วนพื้นที่ทำการเกษตรก็ได้รับการส่งเสริมพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และวิธีการเพาะปลูกเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ภูพยัคฆ์ในวันนี้ เป็นแหล่งผลิตพืชผักเมืองหนาวไร้สารพิษ สินค้าเกษตรแปรรูป กาแฟ และดอกไม้เมืองหนาว ทั้งยังได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามารถสร้างงาน และสร้างรายได้ให้ราษฎรในพื้นที่ได้ ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ราษฎรได้เป็นอย่างดี

             ก่อนจะมีวันนี้ หากมองย้อนกลับไปในช่วงปี ๒๕๐๔ จะพบว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตัดสินใจเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้นำองค์กรจากกรุงเทพฯ มาที่จังหวัดสกลนคร ก่อนย้ายไปที่จังหวัดนครพนม แล้วเข้าสู่ ภูพยัคฆ์ จังหวัดน่านซึ่งปลอดภัยจากกำลังทหารไทย เมื่อปี ๒๕๑๑ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชัน อยู่ติดพรมแดนไทย-ลาว ทั้งยังสามารถเดินทางผ่านลาวไปประเทศจีนซึ่งเป็นศูนย์กลางลัทธิได้โดยสะดวก ในช่วงเวลานั้น ผู้ปฏิบัติงาน พคท. ได้เคลื่อนไหวปลุกระดมชาวลัวะ ม้ง และไทยวน ให้เข้าร่วม การปฏิวัติ โดยสร้างกองกำลังติดอาวุธเพื่อควบคุมหมู่บ้านต่าง ๆ ใน อำเภอทุ่งช้าง อำเภอปัว และอำเภอบ่อเกลือ แล้วประกาศเป็นเขตปลดปล่อย อีกทั้งมีการฝังทุ่นระเบิดไว้ตามป่าเขา เพื่อป้องกันการโจมตีจากฝ่ายทหารไทย โดยกองทัพภาคที่ ๓ ที่ใช้ยุทธการทางทหารบุกเข้าโจมตีฐานอย่างต่อเนื่องในช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๒๗ ทำให้สหายชาวลัวะ และม้ง ได้เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) พร้อมกันนั้น กองกำลังติดอาวุธในป่าของ พคท. ทั่วประเทศ ได้ยุติการเคลื่อนไหวอย่างสิ้นเชิง

_DSC8653-

             สงครามอุดมการณ์ทางการเมืองได้ทิ้งบาดแผลขนาดใหญ่ไว้ที่ภูพยัคฆ์ ผู้คนอดอยากขาดแคลน และมีภัยอันตรายจากทุ่นระเบิดที่ถูกฝังไว้ทั่วไป ทำให้ราษฎรบางส่วนเสียชีวิตและบางส่วนพิการสูญเสียอวัยวะ เวลาผ่านไปนานกว่า ๒๐ ปี ที่ราษฎรรอบ ๆ ภูพยัคฆ์ ต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก จนถึงวันที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารบริเวณภูพยัคฆ์ พระองค์ทรงพบเห็นความลำบากของราษฎร และสภาพพื้นที่ที่ถูกราษฎรแผ้วถางทำไร่จนเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงมีพระราชดำริให้ตั้ง “สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์” ขึ้น ที่บ้านน้ำรี หมู่ที่ ๑๒ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพื่อให้ราษฎรชาวไทยภูเขาในพื้นที่โดยรอบได้มีอาชีพการเกษตรตามหลักวิชาการแผนใหม่ ทดแทนการทำไร่หมุนเวียน โดยอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง มีการพัฒนาชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน

เส้นทาง : สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์

บ้านน้ำรี หมู่ที่ ๑๒ ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน