โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง

พื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าด้านศิลปาชีพ

             หลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงรับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไว้เป็นโครงการตามพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ แล้ว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการ เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าด้านศิลปาชีพ และผลการดำเนินงานโครงการฯ บ่อยครั้ง ในการเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้ง ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาป่าไม้ เพื่อให้มีการปลูกป่าเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำที่จะมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่โครงการ และเมื่อราษฎรในพื้นที่มีน้ำใช้เพื่อทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ก็จะก่อให้เกิดจิตสำนึกรักป่า แล้วหันมาร่วมกันปลูกป่า ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ ขณะเดียวกันได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนในการประกอบอาชีพ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ด้านศิลปาชีพ ด้านการเลี้ยงสัตว์ ด้านการทำปุ๋ยอินทรีย์ และด้านการเพาะปลูกพืชผักในโรงเรือนแบบอินทรีย์ ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ ส่งออกจำหน่ายให้แก่บริษัทผู้รับซื้อโดยตรง ทั้งนี้ ได้จัดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคอยดูแลและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และนอกจากการเพาะปลูกพืชผักแล้ว ยังเสริมด้วยการปลูกไม้ผลในพื้นที่ป่า เช่น เงาะ เป็นต้น โดยเริ่มให้ผลผลิตและจำหน่ายได้ในปี ๒๕๖๔

IMG_8107

             หากมองย้อนกลับไปในอดีต เมื่อปี ๒๕๑๑ จะพบว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ใช้พื้นที่บริเวณภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว เป็นฐานที่มั่นสู้รบกับฝ่ายรัฐบาล จนถึงปี ๒๕๒๖ ที่สถานการณ์การสู้รบและการก่อการร้ายจบสิ้นลง มวลชนชาวเขาเผ่าม้งจำนวนมากได้เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วม พัฒนาชาติไทย และได้รับการจัดสรรที่อยู่อาศัย รวมทั้งที่ทำกินในพื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่เดิม โดยจัดเป็นหมู่บ้านผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จำนวน ๔ หมู่บ้าน คือ บ้านร่มเกล้า บ้านน้ำคับ บ้านน้ำจวง อำเภอชาติตระการ และบ้านน้ำแจ้งพัฒนา (หรือบ้านภูขัดใต้) อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

             ปรากฏว่า ในปี ๒๕๒๘ ขณะที่ทางราชการเริ่มดำเนินการพัฒนาบ้านร่มเกล้า ฝ่าย สปป.ลาว ได้อ้างสิทธิ์ว่าบ้านร่มเกล้าอยู่ในเขต สปป.ลาว ด้วยการยึดเอาลำน้ำเหืองป่าหมันเป็นเส้นเขตแดน ในขณะที่ฝ่ายไทยยึดเอาลำน้ำเหืองงา เป็นเส้นเขตแดน จึงเกิดกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้าขึ้น จนถึงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ มีการเจรจาหยุดยิง แยกกำลังที่ปะทะออกจากกันฝ่ายละ ๓ กิโลเมตร กำหนดเป็นเขตแนวแยกทางทหาร จนกว่าการปักปันเขตแดนจะได้ข้อยุติ

IMG_8034

             หลังจากเหตุการณ์ที่สมรภูมิบ้านร่มเกล้า กองทัพภาคที่ ๓ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๓ ได้รับอนุมัติให้จัดตั้ง “กองอำนวยการโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว” ขึ้น เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ ด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคงตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนา ในบริเวณพื้นที่รอยต่อ ๓ จังหวัด คือ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดเลย เนื่องจากพื้นที่ที่มีลักษณะต่อเนื่องกันตามแนวชายแดน อาจทำให้เป็นเส้นทาง การเคลื่อนที่เข้าคุกคาม ประเทศไทยได้ จึงต้องมีการดูแลพัฒนาพื้นที่ โดยจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์ตามแนวชายแดนขึ้น ให้สอดคล้องกับระบบการป้องกันประเทศ

             หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันเข้าพัฒนาพื้นที่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมไปถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เส้นทางคมนาคม ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การพัฒนาแหล่งน้ำ และการส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลการดำเนินงานที่สำคัญคือ การจัดตั้งหมู่บ้านราษฎรอาสา จำนวน ๘ หมู่บ้าน หมู่บ้านละ ๕๐ หลังคาเรือน บ้านรักชาติ บ้านเทิดชาติ บ้านหมั่นแสวง บ้านนุชเทียน บ้านชำนาญจุ้ย บ้านธรรมวงศ์ บ้านส่องสี และบ้านมณีแก้ว โดยสิ้นสุด โครงการฯ ลง เมื่อปี ๒๕๓๗ จากนั้น หน่วยได้แปรสภาพเป็น “ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว” ทั้งนี้ เพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนา

             สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงฯ ไว้เป็นโครงการตามพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ นับแต่เริ่มดำเนินโครงการ จนถึงปัจจุบัน โครงการได้มุ่งดำเนินงานสนองพระราชดำริมาโดยตลอด โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ในการดูแลรับผิดชอบหมู่บ้านเป้าหมาย ๒๑ หมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่กลับไปบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำอีก

เส้นทาง : โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ภูสอยดาว อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก