ศิลปาชีพพิเศษจักสานป่านศรณารายณ์

- เส้นใยป่าน สายใยชุมชน -

             ตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา นับจากวันที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงรับงานหัตถกรรมป่านศรนารายณ์ของแม่บ้านสหกรณ์หุบกะพง ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้การสนับสนุน ด้วยการนำสินค้าจากผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ไปจัดแสดงและจำหน่าย นับเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้มีการสั่งซื้อมากขึ้น จนชาวบ้านหุบกะพงสามารถรวมกลุ่มทำอาชีพจักสานป่านศรนารายณ์ได้อย่างยั่งยืน ดังเป็นที่ประจักษ์ว่าผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง เนื่องจากเป็นสินค้าที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้แก่ชาวหุบกะพงมาเป็นเวลายาวนานจนถึงปัจจุบัน

๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านหุบกะพง

             หากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะพบว่า ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พระองค์ได้ทรงรับเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง จำนวน ๘๓ ครอบครัว ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสรรที่ดินบริเวณหุบกะพง จัดตั้ง โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพงขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้เป็นต้นแบบของการส่งเสริมให้ราษฎรได้รวมตัวกันในรูปแบบของสหกรณ์ในนาม สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด

 

             ต่อมาในปี ๒๕๑๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริว่า จากการที่หัวหินมีการปลูกป่านศรนารายณ์ไว้มาก เพื่อกั้นพื้นที่การเกษตรไม่ให้วัวควายเข้าไปทำให้พืชผลเสียหาย ประกอบกับทรงทราบว่าเส้นใยจากป่านศรนารายณ์มีคุณสมบัติเหนียว แข็งแรง ทนทาน จึงทรงแนะนำให้แม่บ้านสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง นำป่านศรนารายณ์มาใช้ประโยชน์ในด้านการจักสาน โดยทรงพระกรุณาส่งครูผู้สอนจากสมาคมสตรีธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมไปให้ความรู้และฝึกทักษะให้ โดยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานด้านการเกษตรมาทำหัตถกรรมในครัวเรือนเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

             สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับงานหัตถกรรมป่านศรนารายณ์ของแม่บ้านสหกรณ์หุบกะพงเข้าไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อปี ๒๕๒๔ โดยจัดตั้งเป็นโครงการศิลปาชีพพิเศษจักสานป่านศรนารายณ์ และมีการส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ตลอดจนพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ให้มีความสวยงามอย่างหลากหลาย ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

เส้นทาง : ศิลปาชีพพิเศษจักสานป่านศรณารายณ์

ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี