อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ

“พอมีอ่าง ระดับน้ำใต้ดินเพิ่มสูงขึ้น จะขุดบ่อตรงไหนก็มีน้ำ

ป่าไม้ที่อยู่เหนืออ่างก็เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ เพราะชาวบ้านได้เรียนรู้การรักษาป่า

เพื่อประโยชน์สัมพันธ์ต่อปริมาณน้ำในอ่างตามแนวพระราชดำริ”

คำบอกเล่าของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งยังจำความยากลำบากในวันที่แม่ต๋ำยังอดอยากแร้นแค้นได้

             เป็นเวลามากกว่า ๔๐ ปีมาแล้ว ที่อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ (ตอนล่าง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรในพื้นที่อย่างมาก จนเกินจะประมาณค่าเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า นอกจากอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำจะเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ตลอดทั้งปีให้แก่พื้นที่มากกว่า ๕,๐๐๐ ไร่ ของตำบลเสริมซ้าย ที่เคยแล้งซ้ำซาก และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคขั้นรุนแรงทุกปี ให้กลับมามีความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ จนสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมากแล้ว ราษฎรตลอดแนวคลองแม่ต๋ำไม่น้อยกว่า ๕ หมู่บ้าน ยังปลอดภัยจากอุทกภัยในฤดูฝน ที่แต่เดิมนั้นมักจะมีน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม แต่เมื่อมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ ปรากฏว่าอ่างเก็บน้ำดังกล่าวได้ช่วยชะลอการไหลของน้ำลงได้มาก และที่ยังประโยชน์ยิ่งไปกว่านั้น คือ น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนโครงการฟาร์มตัวอย่าง และศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ ให้สามารถปฏิบัติงานตามโครงการต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จัดเป็นศูนย์กลางความรู้ทางวิชาชีพการเกษตรและศิลปหัตถกรรมให้แก่ราษฎรโดยรอบ ตลอดจนได้สร้างอาชีพ สร้างงานที่มีมูลค่า ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

ความอุดมสมบูรณ์ของโครงการฟาร์มตัวอย่าง บ้านแม่ต๋ำ เกิดขึ้นได้เพราะระบบชลประทานจากอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ

             บ้านแม่ต๋ำ มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงเชิงเขา มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือลำห้วยแม่ต๋ำ ที่ไหลมาไกลจากต้นน้ำดอยขุนตาล ซึ่งก่อนที่จะมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำ ราษฎรบ้านแม่ต๋ำและพื้นที่ใกล้เคียงประสบปัญหาความแห้งแล้งกันดารเรื้อรังเป็นประจำทุกปี ทำให้ราษฎรต้องรอคอยน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาล เพื่อทำการเพาะปลูก และต้องหาทางสำรองน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคด้วย หากปีใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือฝนทิ้งช่วงนานกว่าปกติ ก็จะไม่มีน้ำทำนา ส่งผลให้ไม่มีข้าวกิน และในกรณีที่เกิดภัยแล้งยาวนาน น้ำที่สำรองไว้ไม่เหลือแล้ว ก็ต้องไปตักจากบ่อน้ำในหมู่บ้านที่มีอยู่เพียงแห่งเดียว ซึ่งก็แห้งขอด จำเป็นต้องรอให้น้ำซึมออกมาเองอย่างช้า ๆ ดังนั้น กว่าจะได้น้ำแต่ละถังต้องใช้เวลานาน

๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๑ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และทรงติดตามการดำเนินงานโครงการศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ

             หลังจากมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของราษฎร ส่งผลให้ชีวิตของราษฎรดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ จากที่เคยต้องซื้อข้าวสารกินเพราะขาดน้ำ เมื่อมีน้ำทำนาได้ทุกปี ราษฎรก็สามารถปลูกข้าวได้เอง และนำข้าวที่เหลือกินออกขายได้ นอกจากนั้น หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้ว ยังมีน้ำพอที่จะใช้ในการปลูกผัก ปลูกถั่วลิสง ปลูกข้าวโพดได้อีกด้วย ซึ่งช่วยให้มีรายได้เสริมอย่างต่อเนื่อง

             อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ เป็นเขื่อนดินที่มีขนาดพื้นที่รับน้ำฝน ๗๑.๕๒๕ ตารางกิโลเมตร สันเขื่อนยาว ๖๒๐ เมตร สูง ๑๔ เมตร เริ่มการก่อสร้างตามพระราชดำริ เมื่อปี ๒๕๒๒ เริ่มกักเก็บและส่งน้ำได้ ในปี ๒๕๒๓ โดยเก็บกักน้ำได้ ๒ ล้านลูกบากศ์เมตร และรองรับน้ำในฤดูฝนได้สูงสุด ๒.๗ ล้านลูกบากศ์เมตร มีการก่อสร้างอาคารท่อระบายน้ำ ระบบส่งน้ำ และขุดเหมืองส่งน้ำเชื่อมกับเหมืองส่งน้ำเดิมของราษฎรเพิ่มเติม จัดเป็นโครงข่ายชลประทานที่มีประสิทธิภาพ ได้ผลงานที่ดี บรรลุเป้าหมายในคุณภาพและปริมาณที่ต้องการ ก่อเกิดประสิทธิผล ในการส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม ได้อย่างทั่วถึง สามารถสร้างความสุขความเจริญให้แก่ราษฎรในพื้นที่โดยรอบมาจนถึงปัจจุบัน

เส้นทาง : อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ

ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง