พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณตำนานเมืองพ่อพญาแล ณ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพทุ่งกะมังฯ
โครงการส่งเสริมศิลปาชีพทุ่งกะมัง ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองหอย ตำบลกุดชุมแสง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ติดกับพื้นที่ป่าภูเขียวซึ่งเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โครงการมีบทบาทในการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนเพื่อการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการบุกรุกป่า ลดการทำลายทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติ และลดการละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานที่อื่น ประการสำคัญคือ ได้ส่งเสริมการผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการช่วยเหลือชุมชนให้มีความรู้สมัยใหม่ โดยเชื่อมโยงกับตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามพระราชเสาวนีย์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งส่งผลต่อการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสำรวจสภาพพื้นที่ป่าภูเขียว
ทุ่งกะมัง เป็นทุ่งหญ้าบนที่ราบกว้างใหญ่ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ที่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จุดเริ่มต้นของโครงการ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งในวันดังกล่าว สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อทรงสำรวจสภาพพื้นที่ป่าภูเขียว ด้วยพระราชประสงค์จะให้อนุรักษ์สัตว์ป่าและนำสัตว์ป่ากลับคืนถิ่น ได้ทอดพระเนตรทุ่งหญ้าที่เปรียบเสมือนหัวใจของป่าภูเขียวทั้ง ๓ แห่ง คือ ทุ่งกะมัง บึงแปน และภูคิ้ง ในโอกาสเดียวกันได้พระราชทานแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้านรอบภูเขียว เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมไปกับการปลูกฝังให้พวกเขารักป่าและสัตว์ป่า ให้รู้จักสร้างแหล่งอาหารด้วยการตัดและเผาทุ่งหญ้า อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดหญ้าระบัดหรือแตกใบอ่อน ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหาร และเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ป่านานาชนิด ที่จะออกมาหากินได้ในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะเนื้อทราย ทั้งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์ไว้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
เมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับพักแรม ณ พระตำหนักทุ่งกะมัง ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อทรงปล่อยสัตว์ป่า เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา ในครั้งนั้น ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในพื้นที่รอบบริเวณพื้นที่ป่าภูเขียว ๔ กลุ่ม ในอำเภอหนองบัวแดง และอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เข้าร่วมในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า ในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เกษตรกรทั้ง ๔ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านกุดเลาะ
ตำบลกุดเลาะ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
๒. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านราษฎร์ดำเนิน
ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
๓. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองแพ
ตำบลคูเมือง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
๔. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองหอย
ตำบลกุดชุมแสง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ปัจจุบันทุ่งกะมังจึงเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมมัดหมี่ที่มีอัตลักษณ์ลวดลาย ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากลายโบราณได้อย่างโดดเด่น และผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ เพราะทุกกระบวนการใช้วัตถุดิบคุณภาพดีที่ผลิตขึ้นในชุมชน เป็นเส้นใยธรรมชาติที่ปราศจากสารเคมี แปรรูปเป็นผืนผ้าที่สวยงามโดดเด่นด้วยสีจากธรรมชาติซึ่งมีเอกลักษณ์ เป็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน และเป็นการสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคที่มีความใส่ใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การไม่ใช้สารเคมีทำให้ไม่เกิดการปนเปื้อนในน้ำ ดิน และอากาศ ทั้งยังลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
บ้านหนองหอย ตำบลกุดชุมแสง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ