ฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ ปฏิบัติงานเพื่อการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมและประมง ตลอดจนการช่วยฟื้นอาชีพและฟื้นรายได้ให้คนในพื้นที่ ซึ่งปรากฏว่าราษฎรนำไปปฏิบัติแล้วได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี อาทิ การเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะพงขาว และปลานิล เป็นต้น โดยการทำแพลอยน้ำในทะเล เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทะเลขนาดเล็กให้มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มผลผลิตทางธรรมชาติ ส่งผลให้ปลาตัวใหญ่ หมึก และปู เข้ามาใกล้จนสามารถจับได้ง่าย นอกจากนั้น ยังมีการเลี้ยงไรทะเลเพื่อบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นที่เป็นพืชเศรษฐกิจใต้น้ำ และสาหร่ายอื่น ๆ ที่สามารถทำควบคู่ไปกับนาเกลือ ซึ่งสามารถให้ผลผลิตมากถึง ๓๐๐ – ๔๐๐ กิโลกรัม หรือทำให้มีรายได้ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ บาท ในเวลาเดือนครึ่ง ทั้งยังสามารถผลิตน้ำทะเลผงสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลในพื้นที่ห่างไกลทะเลอีกด้วย
มิใช่เพียงเท่านั้น การที่โครงการฯ มีนักท่องเที่ยวและคณะศึกษาดูงาน มาเยี่ยมชมโครงการในพระราชดำริมากกว่า ๒๐,๐๐๐ คนต่อปี ยังเป็น การกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ชุมชนโดยรอบมีรายได้เสริมจากธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าขายสินค้าพื้นเมืองต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นวันที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริถึงทางเลือกสำคัญทดแทนการออกเรือไปจับสัตว์น้ำในทะเลที่ห่างไกล โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสานในพื้นที่ดินนาเกลือริมทะเลเพื่อให้เป็นแบบอย่างการดำเนินงานแก่ผู้จับสัตว์น้ำ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ที่สนใจทั่วไป ได้ศึกษา เรียนรู้ ดูงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของตนเองต่อไป ดังความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลวังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า
“…ในอนาคตผลผลิตสัตว์ทะเลต่าง ๆ
จากฟาร์มทะเลเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน
ที่ถูกสุขภาวะอนามัยแวดล้อมคืนสมดุลด้วย
จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญ ทดแทนการออกเรือ
ไปจับสัตว์น้ำในทะเลที่ห่างไกล…”
ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ มีสภาพพื้นดินเดิมเป็นดินเค็ม เนื่องจากเป็นนาเกลือทิ้งร้าง การพัฒนาจึงเริ่มต้นด้วยการถมดิน สร้างคันบ่อเพื่อกักเก็บน้ำทะเลและเลี้ยงสัตว์น้ำ ปลูกพืชคลุมดินบนคันบ่อ อาทิ ผักเบี้ย ตะไคร้หอม และพืชยืนต้นทนเค็ม ซึ่งได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวสีทอง มะแพร้ว มะขามป้อม ทับทิม มะม่วงหาวมะนาวโห่ มะขวิด และกระทิง ตลอดจนมีการวางระบบการหมุนเวียนของน้ำระหว่างน้ำทะเลกับน้ำจืดจากคลองซอยชลประทานให้เกิดความสมดุล ทำให้สามารถเลี้ยงสัตว์สองน้ำ อาทิ กุ้งก้ามกราม ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะพงขาว รวมไปถึงปลาน้ำเค็ม เช่น ปลากุดสลาด ปลากะรัง และปลาหมอทะเล เป็นต้น ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณสูง ระบบท่อน้ำที่เชื่อมโยงถึงกันทุกฟาร์มย่อย ได้ส่งน้ำเสียจากทุกฟาร์มย่อยสู่บ่อเลี้ยงไรน้ำเค็ม (อาร์ทีเมีย) ให้ไรน้ำเค็มกรองกินมูลสัตว์น้ำและอินทรีย์สารในน้ำ เพื่อให้กลับเป็นน้ำสะอาดอีกครั้ง ซึ่งตัวไรน้ำเค็มที่มีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนในฟาร์มได้
ไรทะเล นักบำบัดน้ำเสียและอาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน
สาหร่ายพวงองุ่นในระบบหมุนเวียนน้ำ
โรงเรือนศึกษาการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม และหอยเป๋าฮื้อ
โรงเรือนเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
น้ำที่เค็มจัดจากการเลี้ยงไรน้ำเค็มจะส่งต่อไปยังแปลงสาธิตการทำนาเกลือ พัฒนาต่อยอดไปสู่การทำน้ำทะเลธรรมชาติแบบผง ที่มีคุณสมบัติแร่ธาตุครบถ้วน สะดวกต่อการนำไปใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ห่างไกลจากทะเล เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตเกลือทำให้มีราคาสูงขึ้น และในกระบวนการสุดท้ายของการทำนาเกลือจะได้ปุ๋ยสำหรับนำไปเพาะปลูกต้นไม้ด้วย การหมุนเวียนน้ำอย่างเป็นระบบทำให้สามารถคงความเค็มของน้ำทะเลในทุกฟาร์มย่อยต่าง ๆ ให้คงที่ได้ตลอดทั้งปี ระบบน้ำไหลเวียนขึ้นลงนี้เลียนแบบธรรมชาติ เป็นการช่วยหมุนเวียนออกซิเจน แร่ธาตุ สารอาหาร และสาหร่ายเซลล์เดียว จนถึงสาหร่ายขนาดใหญ่ ที่ช่วยบำบัดอินทรีย์สารส่วนเกิน ทำให้น้ำไม่เน่าเสีย เกิดห่วงโซ่อาหารที่สมดุล ไม่มีการปล่อยของเสียจากฟาร์มไปสู่สิ่งแวดล้อม (Zero waste)
โรงเรือนเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
ส่วนศึกษาและสาธิตการทำน้ำทะเลผง
โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ยังเป็นที่รวมของนวัตกรรมและอุปกรณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เกษตรกรสามารถผลิตได้เอง หรือซื้อหาในท้องถิ่นได้โดยไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศในราคาสูง อาทิ อุปกรณ์แยกของเสียจำพวกโปรตีนออกจากน้ำ (protein skimmer) เรือ และถังลำเลียงปลาให้มีชีวิตรอด ถังรวบรวมไข่ปลาทูหลังการวางไข่ เครื่องให้อากาศพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องให้อาหารสัตว์น้ำอัตโนมัติ กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำเคลื่อนที่ได้ การเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือกในทะเล ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นองค์ความรู้ที่เกษตรกรสามารถนำไปลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในการทำฟาร์มได้จริง
ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี