โครงการป่ารักน้ำ บ้านถ้ำติ้ว

             โครงการป่ารักน้ำ เกิดจากพระราชปณิธานอันแน่วแน่ และพระมหากรุณาธิคุณ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังที่ได้มีพระราชเสาวนีย์ว่า “ขาดน้ำ ทุกชีวิตสิ้นสุดทันที” การที่ทรงเน้นย้ำให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า ก็เป็นไปเพื่อให้มีแหล่งน้ำไว้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของสรรพชีวิต การให้รักษาป่า สร้างป่า เพราะป่าเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างน้ำ ทำให้ราษฎรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาช่วยกันสร้างสมดุลแก่สิ่งแวดล้อมให้แก่ระบบนิเวศด้วยการฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณต้นน้ำลำธารที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่ความชุ่มชื้น เมื่อพื้นดินกลับมาดูดซับน้ำไว้ได้เหมือนเดิม ป่าก็จะไม่ขาดน้ำ แม้ในฤดูแล้งก็มีความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรได้มีที่อยู่อาศัย ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ เป็นที่ที่ “คนอยู่ร่วมกับป่า” ได้อย่างสุขสงบ การที่ได้รับการสนับสนุนให้มีโอกาส มีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน ได้ส่งผลให้ราษฎรเกิดความรักและหวงแหนท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติ จึงเลิกการตัดไม้ทำลายป่า ยิ่งเมื่อได้รับการส่งเสริมด้านความรู้และทักษะในอาชีพต่าง ๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม และศิลปาชีพทำให้ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และเกิดรายได้เพิ่มขึ้น นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี สามารถแก้ปัญหาการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในท้องถิ่นอื่นได้

๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และทรงปลูกต้นไม้ ณ โครงการป่ารักน้ำ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

             จุดเริ่มต้นของ โครงการป่ารักน้ำ บ้านถ้ำติ้ว ซึ่งเป็นโครงการป่ารักน้ำแห่งแรก ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ณ บริเวณเชิงภูผาเหล็ก ติดกับอ่างเก็บน้ำคำจวง อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ตามพระราชประสงค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านถ้ำติ้ว และได้ทอดพระเนตรเห็นป่าไม้ถูกแผ้วถางทำลาย ทั้งทรงพบว่าชาวบ้านมีความยากจน ด้วยทรงรับทราบปัญหาจากชาวบ้านเอง เมื่อมีพระราชปฏิสันถารถึงชีวิตความเป็นอยู่ว่า อยู่กันอย่างไร ทำมาหากินอะไร คำตอบที่ได้รับ คือการถางป่าเพื่อทำไร่ ทำนา ห้าสิบถึงหกสิบไร่ แต่ที่ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรได้จริง ๆ มีเพียงห้าไร่ สิบไร่เนื่องจากไม่มีน้ำ พระองค์จึงทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างมาก และทรงสอนชาวบ้านว่า

“…ป่านี่เป็นที่เก็บน้ำนะ
ถ้าถางป่ามาก ๆ ก็ไม่มีที่เก็บน้ำ
แห้งแล้ง พื้นที่ที่ถางต้นไม้ไปมากมาย
ก็ทำไร่ได้นิดเดียว…”

             สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงติดตาม สภาพความเป็นอยู่ของราษฎร บ้านถ้ำติ้ว และได้ทรงขอซื้อที่ดินที่ราษฎรแผ้วถางสำหรับปลูกมันสำปะหลัง แล้วทิ้งร้างไป เพื่อทรงนำมาใช้เป็นที่ตั้งโครงการป่ารักน้ำ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านอยู่ คนละ ๒ ไร่ ให้มีบ้านและมีที่ทำกิน ใช้ในการปลูกผัก ปลูกไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นอาหารโปรตีน โดยจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งใช้เป็นนารวม ส่วนที่เหลือใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่าทั้งหมด ทั้งนี้ ได้พระราชทานเงินค่าจ้างเป็นรายเดือนให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกต้นไม้และดูแลป่า พร้อมกันนั้น ทรงสนับสนุนศิลปาชีพในท้องถิ่นเป็นอาชีพเสริม มีการจัดครูเข้าสอนอาชีพด้านศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน รวมทั้งมีการค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ เพื่อนำมาพัฒนาขึ้นใหม่ให้สามารถนำวัสดุและทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ผลิตงานด้านศิลปะ ด้วยการนำเอาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมกลับมาช่วยส่งเสริมชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ป่า จากการดำเนินงานด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ราษฎรมีรายได้ในการประกอบอาชีพ และสามารถตั้งตัวได้ จึงลดความช่วยเหลือลง จนราษฎรพึ่งพาตัวเองได้ในที่สุด

เส้นทาง : โครงการป่ารักน้ำ บ้านถ้ำติ้ว

ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร