ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง

อาคารศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังที่สร้างขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ เปิดทำการในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๒
โถงกว้างชั้นล่างเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของกลุ่มทอผ้า ส่วนชั้นบนเป็นห้องทรงงาน และห้องโถง

             ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งเสริมให้สมาชิกได้ดำเนินกิจกรรม ๓ กลุ่มอาชีพ คือ กลุ่มแปรรูปกระจูด กลุ่มปักผ้าด้วยมือ และกลุ่มทอผ้า ซึ่งสมาชิกกลุ่มจะใช้บ้านเป็นสถานที่สร้างสรรค์ผลงาน ตามที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพกำหนดรูปแบบไว้ให้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จึงนำมารวบรวมส่งไปยังกองงานศิลปาชีพ เพื่อจัดจำหน่ายต่อไป ส่งผลให้มีรายได้ดีขึ้น ราษฎรเห็นโอกาสในการทำกิน จึงส่งเสริมให้ลูกหลานเข้าร่วมโครงการศิลปาชีพมากขึ้น

             จุดเริ่มต้นในการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ในโอกาสที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านเนินธัมมัง และได้ทรงรับทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรในพื้นที่ที่มีฐานะยากจน ด้วยเหตุที่การทำนาให้ผลผลิตน้อย เนื่องจากพื้นที่ถูกล้อมรอบด้วยป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งเป็นป่าพรุที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของประเทศไทย ส่งผลให้น้ำท่วมในพื้นที่ทำกิน และยังซ้ำเติมด้วยปัญหาดินเปรี้ยว ทำให้หัวหน้าครอบครัว ต้องออกไปหางานทำต่างถิ่น คงเหลือแต่แม่บ้าน เด็ก และคนชรา พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างศาลาศิลปาชีพ พร้อมกับให้การสนับสนุนครูศิลปาชีพ และอุปกรณ์ในการทำงาน เพื่อส่งเสริมงานด้านศิลปาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียง โดยเริ่มดำเนินงาน ในเดือนเมษายน ๒๕๓๗ ด้วยการแปรรูปกระจูด ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้จำพวกเดียวกับต้นกก เจริญเติบโตได้ดี ในพื้นที่ชุ่มน้ำของป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งกระจูดนั้น มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นทรงกระบอกกลมขนาดประมาณดินสอ ภายในกลวง มีเพียงเนื้อเยื่ออ่อน ความสูงลำต้นประมาณ ๑-๒ เมตร เมื่อตากแห้งแล้ว จะมีเส้นใยที่เหนียว แข็งแรง เหมาะในการนำมาสานเป็นเสื่อและกระสอบ หากนำไปย้อมสีสามารถนำมาทอ แล้วตัดเย็บเป็นเครื่องใช้สอยที่สวยงามได้อย่างหลากหลาย

             ต่อมาในปี ๒๕๔๗ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญการทอผ้ายก ไปฝึกสอนสมาชิกศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง และบ้านตรอกแค โดยทรงให้ทอ “ผ้ายกเมืองนคร” ซึ่งเป็นผ้าที่ในสมัยโบราณนิยมใช้ในราชสำนัก ลวดลายซับซ้อนด้วยเชิงชั้น ขนาบ สังเวียน ที่ประณีต สวยงาม แต่ปัจจุบันได้สูญหายไป เพราะขาดการสืบทอดการทอมาเป็นเวลายาวนานมากกว่า ๑๐๐ ปี ซึ่งจากการศึกษาและการถ่ายทอดกระบวนการในการทอผ้าของมูลนิธิศิลปาชีพนั้น ทำให้สมาชิกศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง และบ้านตรอกแค สามารถพัฒนาฝีมือการทอผ้ายกทองเมืองนครได้สำเร็จและสวยงาม นับเป็นการนำผ้าราชสำนักโบราณคืนสู่ถิ่นกำเนิด เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าคู่แผ่นดินไทยสืบต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

เส้นทาง : ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง

ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช