ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า

- แหล่งพันธุกรรมไม้ป่า ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ -

             พื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่ ริมเส้นทางถนนสายสวนผึ้ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ไปทางชายแดนไทย – เมียนมาร์ ประมาณ ๒๗ กิโลเมตร ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายของแม่น้ำภาชี มีขอบเขตบางส่วนติดกับแม่น้ำภาชี ครอบคลุมแก่งส้มแมว ซึ่งเป็นลำธารแก่งหินขนาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเล่นน้ำ เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” พื้นที่บริเวณนี้ที่ได้รับการรักษาสภาพป่าธรรมชาติไว้ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เป็นแหล่งพันธุกรรมไม้ป่า โดยการรวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและพันธุ์ไม้หายาก ไว้สำหรับศึกษา ค้นคว้าวิจัยทางด้านวิชาการป่าไม้ จัดเป็นต้นแบบการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมที่ไม่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมให้กลับฟื้นคืนเป็นป่าที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าและนกป่ามากกว่า ๑๐๐ ชนิด ช่วยให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้จากการรับจ้างปลูกป่า อีกทั้งในการดำเนินงานโครงการฯ ยังได้จัดสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญของจังหวัดราชบุรีอีกแห่งหนึ่งด้วย

๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่าฯ

             สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์บ่อยครั้งถึงพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่จะใช้เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้ของไทยจากท้องที่ต่าง ๆ ไว้ในแหล่งเดียวกัน พร้อมกันนั้นให้ดำเนินการขยายพันธุ์เพื่อไม่ให้ไม้ป่าสูญพันธุ์ เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปใช้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ รักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร และฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป จากพระราชดำริดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก กรมป่าไม้ และจังหวัดราชบุรี จึงร่วมกันสนองพระราชเสาวนีย์ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในโอกาสเฉลิมฉลองครบ ๕ รอบพระชนมพรรษา ในปี ๒๕๓๕ โดยการจัดตั้งโครงการ “สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ขึ้น ในพื้นที่แก่งส้มแมว บ้านห้วยม่วง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ประกอบด้วยพื้นที่ป่า ๕๒๔,๘๑๖ ไร่ ในเขตอำเภอสวนผึ้ง อำเภอปากท่อ และกิ่งอำเภอบ้านคา รวม ๖ ตำบล ๕๒ หมู่บ้าน ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ควรเร่งให้อนุรักษ์และฟื้นฟู อีกทั้งราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่ควรได้รับความดูแลและให้ความช่วยเหลือ

             หน่วยงานรับผิดชอบได้จัดพื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่สวนป่าเฉลิมพระเกียรติฯ เป็น “ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ” ซึ่งศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า มีวิธีการปลูกป่าที่แตกต่างไปจากสวนป่าแห่งอื่น คือ ไม่ปลูกไม้เป็นแถวเป็นแนว แต่ปลูกเป็นกลุ่มก้อน ตามพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงแนะนำให้กำเมล็ดไว้ แล้วหว่านออกไป เหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่งที่ล้มลงแล้วเม็ดกระจายออกไป เม็ดกระจายอย่างไรก็ให้อยู่อย่างนั้น ส่งผลให้ในวันนี้พันธุ์ไม้ป่าในพื้นที่ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ได้เติบโตและเป็นไปตามธรรมชาติอย่างแท้จริง กลายเป็นป่าแห่งใหม่ที่ให้ร่มเงาชุ่มชื้นได้อีกครั้ง

             ด้วยการดำเนินงานสนองพระราชดำริจากหลายหน่วยงาน ส่งผลให้เกิดการพัฒนารอบด้าน อาทิ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การป้องปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาความมั่นคง รวมไปถึงการเฝ้าระวังยาเสพติด ร่วมกับส่วนราชการและราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ซึ่งประสบผลสำเร็จได้จากการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ราษฎรมีรายได้ ที่ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการสร้างระบบสาธารณูปโภค การจัดสรรที่ดินทำกิน การสร้างแหล่งผลิตอาหารชุมชน ได้แก่ กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มปลูกข้าว แปลงสาธิตแหล่งผลิตอาหาร และแปลงผักปลอดสารพิษ ตลอดจนมีการฝึกควายไว้ใช้ทำการเกษตรและการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยทรงวางแผนโครงการศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่าฯ ควบคู่ไปกับการจัดโครงการฝึกอาชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ให้ราษฎร โดยใช้งานศิลปาชีพเป็นสื่อกลาง อีกทั้งโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก เด็กนักเรียนก็ได้รับพระราชทานเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน ทำให้ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่มีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี มีความเป็นมิตร แม้ส่วนมากจะยังสื่อสารภาษาไทยได้ไม่ดีนักก็ตาม

เส้นทาง : ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า

บ้านห้วยม่วง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี